แพทย์จุฬาฯพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตแบบพกพา

  • สามารถตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ในระยะแรก
  • นำไปสู่การวิจัยและการรักษาได้รวดเร็ว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสำเร็จในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้น แบบพกพา ของภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และทีมงาน จากทำการวิจัย “โครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria”

จากสถิติในปี 2564 มีรายงานผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้ป่วย “โรคไตเรื้อรัง” มากถึง 1,007,251 ราย การวิจัยโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. เพื่อประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น และพัฒนาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในรูปแบบเครื่องมือทดสอบ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of care testing) ซึ่งประกอบด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคไต ระบบบันทึกข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ป่วย การจัดเก็บ ประมวลและรายงานผลแบบอัตโนมัติ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมการตรวจค่าการทำงานของไต และการแสดงผลค่าการตรวจ สามารถตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ในระยะแรก นำไปสู่การวิจัยและการรักษาได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรู้ค่าอัลบูมิน (Albumin) ที่บ่งบอกถึงการเป็นโรคไตได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการวิจัยพัฒนารูปแบบนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตแบบพกพา จะช่วยยกระดับการเข้าตรวจรักษาทางสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มความมั่นคงในระบบสุขภาพ รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล และไม่สะดวกต่อการเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาล อีกทั้งยังสามารถนำชุดตรวจฯ ไปใช้ในภาคสนาม โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ขาดแคลนเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการได้อย่างสะดวก ทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้มากยิ่งขึ้น