สาธารณสุข เตือนช่วง สงกรานต์ ร้อนจัดระวัง ฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก สงกรานต์
อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก

 สาธารณสุข เตือนไทยอากาศร้อนจัด ช่วง สงกรานต์ จัดกิจกรรมการแสดง-ขบวนแห่กลางแจ้ง อาจเกิดโรคลมแดดหรือ ฮีทสโตรก แนะสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ดื่มน้ำมากๆ พักเข้าร่มเป็นระยะ หลีกเลี่ยงการออกแดดจัด เล่น สงกรานต์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะโรคลมแดดได้มากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับอุณหภูมิภายในร่างกายได้ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต

สำหรับอาการเตือนที่บ่งบอกว่าเกิดภาวะ ฮีทสโตรก คือ ผิวหนังแดง ตัวร้อนจัด ชีพจรเต้นเร็วและแรง ไม่มีเหงื่อ ปวดศีรษะ มึนงง สับสน คลื่นไส้อาเจียน ความรู้สึกตัวลดลง จนถึงหมดสติ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น และกลุ่มวัยทำงาน ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน

ฮีทสโตรก
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อเกิด ฮีทสโตรก

“ช่วงเทศกาล สงกรานต์ หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมการแสดง จัดขบวนแห่กลางแจ้ง จึงขอให้ระมัดระวัง และป้องกันตนเอง โดยสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบางเบา และระบายความร้อนได้ดี ควรพักเข้าในที่ร่มเป็นระยะๆดื่มน้ำให้บ่อยขึ้นและมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หากมีการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้วทุกชั่วโมง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย ส่วนกลุ่มเปราะบาง แนะนำหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และอยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ดี”

สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยโรค คือ นำตัวผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม จัดให้นอนราบยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว เพราะจะขัดขวางการระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำมากๆ แต่หากไม่รู้สึกตัวให้โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

ขณะที่ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล มีข้อแนะนำดังนี้

อาการของผู้ป่วยโรคลมแดด

  • ให้สังเกตอาการของตนเอง หรือคนใกล้ชิด จะมีอาการอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
  • อีกอาการที่สังเกตได้ง่ายคือ แม้อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส  แต่ผู้ป่วย จะไม่มีเหงื่อออก และรู้สึกกระหายน้ำมากผิดปกติ
  • จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการหายใจถี่กว่าคนปกติทั่วไป  และชีพจรเต้นแรงและเร็วขึ้น
  • ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด หากมีเครื่องวัดความดันจะพบว่า ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ
  • ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้  และอาเจียนออกมา

วิธีการป้องกันโรคลมแดด

  • ให้ดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง โดยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ให้เป็นปกติในทุกวัน หากวันไหนออกกำลังกาย หรือสูญเสียเหงื่อมากกว่าปกติ ให้ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นตาม
  • ไม่ควรใส่เสื่อผ้าสีเข้มโดยเฉพาะสีดำ เมื่อออกในที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัด ควรใส่ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน บาง และระบายอากาศได้ดี
  • สำหรับการใช้ครีมกันแดดให้ใช้ที่ระดับการป้องกันแสง SPF 15  อย่างไรก็ตามไม่ควรทาครีมกันแดดหนาจนเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • หากไม่จำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือ การเล่นกีฬาในสภาพอากาศที่ร้อนจัด และมีแสงแดดแรง
  • ให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงที่อากาศร้อนจัด

วิธีการการดูแลผู้ป่วยโรคลมแดด

ทั้งนี้หากพบผู้มีอาการเป็นโรคลมแดด ให้รีบนำตัวผู้ป่วยออกจากพื้นที่อากาศร้อน แสงแดดจัด นำเข้าที่ร่ม และมีอากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ปลดหรือถอดเสื้อผ้าให้หลวม หรือเหลือน้อยชิ้นที่สุด คลายชุดชั้นใน เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนให้เร็วที่สุด

จากนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ ซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากผู้ป่วยยังไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างต่อเนื่อง และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้โดยเร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตลงได้มาก

สถิติจากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าระหว่างเดือนมีนาคม- พฤษภาคม ของทุกปี จะมีผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนดังนี้ ปี 2560 จำนวน 24 ราย, ปี2561 จำนวน 18 ราย, ปี 2562 จำนวน 57 ราย, ปี2563 จำนวน 12 ราย, ปี 2564 จำนวน 7ราย, ปี 2565 จำนวน 8 ราย และปี 2566 จำนวน 37 ราย

ทั้งนี้ในปี 2566 ระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 22 พฤษภาคม 2566  มีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนรวม 47 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจำนวน 10 คนและเสียชีวิตจำนวน 37 คน พบมากสุดในเดือนเมษายนซึ่งมีเทศกาล สงกรานต์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจำนวน 37 คน มีอายุระหว่างน้อยที่สุด 17 ปี และมากที่สุด 81 ปี  ประกอบอาชีพรับจ้าง 27%  ภาคกลางมีผู้เสียชีวิตจากากาศร้อนสูงที่สุด 35%  ขณะที่ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวร่วมด้วยคิดเป็นสัดส่วน31%  ประกอบด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนมีพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การดื่มสุรา และเป็นการเสียชีวิตกลางแจ้ง 62%

ขณะที่ในจำนวนผู้ป่วยจากอากาศร้อน  10 คน มีอายุน้อยที่สุด 13 ปี และมากที่สุด 75 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  30%อาชีพรับจ้าง 20 % โดยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วยมีสัดส่วน 10% ทั้งโรค ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด รวมทั้งเป็นผู้ป่วยติดเตียง

ข้อควรระวังคือการทำกิจกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การทำกิจกรรมกลางแจ้ง การดื่มสุรา โดยผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยขณะอยู่กลางแจ้ง  80%

ข้อมูลอ้างอิง กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ฮีทสโตรก อากาศร้อนจัด กรมการแพทย์เตือน ฮีทสโตรก!! ภัยในหน้าร้อน