“หมอเลี้ยบ”​เคลียร์ปม “งานวิจัยฟ้าทะลายโจรยังเชื่อถือได้แค่ไหน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ” มีเนื้อหาระบุไว้ดังนี้

1.วันนี้มีข่าวว่า ผู้วิจัยฟ้าทะลายโจรด้วยวิธี Randomized Controlled Trial (RCT) ขอถอนรายงานวิจัยออกไปจาก Preprint เพราะมีความผิดพลาดในการวิเคราะห์ผล.คำถามที่ตามมาทันทีคือ ยังควรใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิดหรือไม่.

2.ผู้วิจัยแจ้งว่า ที่ขอถอนมาก่อนเพราะความผิดพลาดในการลงค่า p-value ซึ่งบอกความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง “กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้กินฟ้าทะลายโจรทั้งหมด 28 คนแล้วเกิดปอดบวม 3 คน” กับ “กลุ่มผู้ป่วยที่กินฟ้าทะลายโจรทั้งหมด 29 คนแล้วไม่มีใครเป็นปอดบวมเลย” โดยรายงานเดิม (ก่อนถอน) ลงค่า p-value เป็น 0.039 แทนที่จะเป็น 0.11 จากการมาทบทวนคำนวณใหม่.อ่านถึงตรงนี้ ผู้ที่ไม่ได้เรียนสถิติหรือชีวสถิติอาจงุนงงว่า p-value คืออะไร มีความหมายอย่างไร.

3.ในทางสถิติ ค่า p-value แปลง่ายๆคือ ตัวเลขที่บอกเราว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มที่ทดลองนั้น มีโอกาสสรุปผิดหรือไม่เกิดขึ้นจริงตามนั้นกี่เปอร์เซ็นต์ .โดยทั่วไป นักสถิติมองว่า ถ้าผลลัพธ์นั้นมีโอกาสเกิดซ้ำๆเหมือนเดิม 95% ขึ้นไปถือว่าข้อสรุปถูกต้องและยอมรับได้ (กล่าวคือ เชื่อว่าจะเป็นไปตามข้อสรุปนั้นทุกครั้ง หรือ 100%) ดังนั้น นักสถิติจึงตั้งค่า p-value ที่ยอมรับกันไว้ที่ไม่เกิน 0.05 (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5/100 หรือ 5%) เช่น ถ้าความแตกต่างระหว่างอาการป่วยของกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม (ในงานวิจัยนี้คือ “กลุ่มที่ไม่กินฟ้าทะลายโจรแล้วเป็นปอดบวม 3 คนใน 28 คน” กับ “กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรแล้วเป็นปอดบวม 0 คนใน 29 คน) มีโอกาสเกิดแบบนี้ซ้ำๆถึง 95% และมีโอกาสไม่เกิดแบบนี้บ้าง แต่ก็ไม่เกิน 5% ก็ยอมรับได้ว่า การกินฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดไม่ให้เป็นปอดบวมได้ดีกว่าไม่กินฟ้าทะลายโจรอย่างมีนัยสำคัญ.ค่า p-value ยิ่งน้อยเท่าไร ก็ยิ่งมั่นใจได้ว่า ข้อสรุปมีโอกาสถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าค่า p-value เท่ากับ 0.01 แสดงว่า ข้อสรุปมีโอกาสถูกต้องถึง 99%.

4.ในกรณีงานวิจัยนี้ ซึ่งผู้วิจัยขอถอนมาแก้ค่า p-value ใหม่ จาก 0.039 เป็น 0.11 แปลได้ว่า ข้อสรุปที่ว่า “การกินฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยไม่ให้เกิดปอดบวมได้” มีโอกาสผิดพลาดเพิ่มขึ้นจาก 3.9% เป็น 11% .จากข้อมูลข้างต้น เราไม่สามารถด่วนสรุปฟันธงจากงานวิจัยนี้ว่า “ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดไม่ได้” เพียงแต่สรุปได้ว่า “ฟ้าทะลายโจรอาจรักษาผู้ป่วยโควิดไม่ให้มีปอดบวมได้ แต่ยังเชื่อมั่นไม่ได้ 100%” ถ้าจะให้โอกาสในการหาข้อสรุปที่มีโอกาสผิดพลาดลดลงน้อยกว่า 5% (p-value น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.05) ตามหลักชีวสถิติก็ต้องใช้จำนวนกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาให้มากกว่านี้จนเพียงพอ .และถ้าทดลองในขนาดกลุ่มตัวอย่างที่มากเพียงพอแล้ว แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญอีก (p-value ยังมากกว่า 0.05) เราจึงจะสามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถรักษาโควิดได้.

5.อนึ่ง จากงานวิจัยเดียวกันนี้ มีการวัดค่า CRP ว่าสูงผิดปกติหรือไม่ (สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งบ่งบอกการอักเสบในร่างกาย) ในวันที่ 5 หลังเริ่มการทดลอง พบว่า ในกลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรไม่พบค่า CRP สูงเลยแม้แต่คนเดียว (0/29) ส่วนกลุ่มที่รับยาหลอกพบ 5 คน (5/28) และ 3 คนใน 5 คนนี้มีอาการปอดบวมในเวลาต่อมา ค่า p-value ของข้อสรุปนี้ เท่ากับ 0.023 หมายความว่า ผลลัพธ์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆแบบนี้ 97.7% จึงสรุปได้ว่า กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรมีค่า CRP ต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ดีกว่ากลุ่มที่ไม่กินอย่างมีนัยสำคัญ.

6.จากการอ่านงานวิจัยนี้ ผมสรุปกับตัวเองว่า ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดอย่างรุนแรง และผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษามาตรฐานได้รวดเร็วทันการณ์ ผมยังจะแนะนำให้ญาติสนิทมิตรสหายที่มาขอคำแนะนำในการดูแลตนเองว่า ถ้าป่วยเป็นโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย หรือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ให้กินฟ้าทะลายโจรที่มี Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวันทันที และกินติดต่อกันจนครบ 5 วัน เพื่อไม่ให้โควิดลงปอดจนอาการหนักและเสียชีวิต.

7.โควิดไม่เคยรอช้า และเห็นแก่หน้าใครจึงต้องกินฟ้าทะลายโจร ให้เร็วและให้พอเพราะเมื่อโควิดลงปอดแล้ว บอกไม่ได้ว่า ในที่สุด…ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร.

รอตรวจ รอเตียง อย่ารอตายสู้โควิดด้วยฟ้าทะลายโจรอย่างถูกวิธีhttps://www.facebook.com/100045051471048/posts/362695878575458/