“ภูมิธรรม” หารือ FTA ไทย-บังกลาเทศ รุกขยายตลาดใหม่ไทยในเอเชียใต้

"ภูมิธรรม" เดินหน้าเริ่มคุย FTA ไทย-บังกลาเทศ

“ภูมิธรรม” เดินหน้าหารือ FTA ไทย-บังกลาเทศ เร่งรุกขยายตลาดศักยภาพใหม่ของไทยในเอเชียใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงสู่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา ภูมิธรรม เดินหน้าสร้างแต้มต่อให้เอกชนไทย

  • เร่งรุกขยายตลาดศักยภาพใหม่ไทยในเอเชียใต้
  • เชื่อมโยงสู่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา
  • เดินหน้าสร้างแต้มต่อให้เอกชนไทย

วันที่ 27 เมษายน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายอะห์ซะนุล อิสลาม ติตู (Ahasanul Islam Titu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ ภายในปี 2567 เดินหน้าสร้างแต้มต่อให้เอกชนไทยเข้าสู่ตลาดบังกลาเทศและเอเชียใต้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศว่า ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ ภายในปี 2567 ในวันที่ 26 เมษายน 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ (นางเชค อาชีนา) ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567

ซึ่งการลงนามร่วมกันในหนังสือแสดงเจตจำนงถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยบังกลาเทศสนใจที่จะเปิดการเจรจาจัดทำ FTA กับไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน

โดยไทยเห็นว่า บังกลาเทศก็เป็นประเทศยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุนของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ด้วยศักยภาพด้านขนาดตลาด แรงงาน และทรัพยากร ที่เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจของภาคเอกชนไทยในเอเชียใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงสู่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา

นายภูมิธรรม กล่าวว่า บังกลาเทศเป็นตลาดผู้ซื้อและผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประกอบกับมีประชากรมากถึง 172 ล้านคน มากเป็นอันดับ 8 ของโลก และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี

รวมทั้งเป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับ 4 ของโลกด้วย ต่อจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ของไทยและบังกลาเทศจะจัดประชุมหารือประเมินการเจรจา (Exploratory Discussion) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคาดหวัง และข้อกังวลต่อการจัดทำ FTA ระหว่างกัน รวมทั้งดำเนินกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-บังกลาเทศ ภายในปีนี้

“ตนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศได้เน้นย้ำถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจการค้า โดยจะร่วมกันแก้ไขอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในบังกลาเทศแล้วหลายบริษัทในอุตสาหกรรมอาหาร การก่อสร้าง และโรงแรม”

นอกจากนี้ บังกลาเทศแสดงความสนใจที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าจำเป็นจากไทย อาทิ น้ำตาลทราย น้ำมันพืชและถั่วต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลน ซึ่งไทยยินดีที่จะสนับสนุนและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับบังกลาเทศ

ทั้งนี้ บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับบังกลาเทศมีมูลค่า 1,185.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปบังกลาเทศมูลค่า 1,091.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์เม็ดพลาสติก เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน และการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 93.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 995.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ประกอบกับเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศรีลังกาจะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มฟื้นตัวและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เชค ฮาซีนา (H.E. Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงร่วมกัน จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้

1) หนังสือประกาศเจตนารมณ์เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – บังกลาเทศ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและบังกลาเทศ

2) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงไฟฟ้า พลังงานและทรัพยากรแร่แห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการบินพลเรือนและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือทางศุลกากรระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทย กับศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

ส่วนด้านการค้า ทั้งสองฝ่ายยินดีกับปริมาณการค้าทวิภาคีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเชื่อมั่นว่า จะสามารถขยายความร่วมมือเพิ่มเติม เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้บังกลาเทศส่งเสริมการลงทุน และมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนไทย และอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนได้มากขึ้น

นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและบังกลาเทศให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การบรรลุความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-บังกลาเทศ โดยเชื่อมั่นว่า หนังสือประกาศเจตนารมณ์ (Letter of Intent) ที่ลงนามในวันนี้ จะช่วยเร่งกระบวนการเจรจาได้ โดยในวันนี้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจที่สำคัญ 3 ฉบับ และความตกลง 1 ฉบับ ได้แก่ (1) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและบังกลาเทศมากขึ้น

(2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดศักยภาพที่แท้จริงจากความร่วมมือด้านพลังงาน

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือทางศุลกากร ที่จะนำไปสู่การควบคุมชายแดนและการต่อต้านการลักลอบขนของอย่างมีประสิทธิภาพ

และ (4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว ที่จะช่วยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดีร่วมกัน

ด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งหวังที่จะยกระดับความร่วมมือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมฮาลาล และการแปรรูปอาหาร โดยจะใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ

โครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยง ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงผ่านการขนส่ง ระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกองที่จะช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อทางทะเล และผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ไทยมีบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ ในราคาที่เหมาะสมสำหรับชาวบังกลาเทศที่ต้องการเข้ารับการรักษาในไทย และได้หารือถึงความร่วมมือในการฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ชาวบังกลาเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://thejournalistclub.com/economic-news33-20012024/244982/ https://www.moc.go.th/th/content/category/index/id/181