“สุโขทัย”อ่วม! กรมชลประทาน เร่งชวยเหลืออย่างเร่งด่วน

  • พื้นที่ 5 อำเภอ“ศรีสัชนาลัย-เมือง-กงไกรลาศ-ศรีนคร-สวรรคโลก”
  • เร่งติดตั้งเครื่อง เพื่อช่วยสูบน้ำ
  • ระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำยม อำเภอเมืองสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 64 ว่า ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย ฝั่งขวาของแม่น้ำยม เกิดจากมีฝนตกหนัก ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่ลำน้ำแม่มอก ก่อนจะไหลไปสบทบกับน้ำท่าในคลองแม่รำพัน ที่มีปริมาณน้ำมากเช่นกัน 

ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งขวาของแม่น้ำยม บริเวณสะพานพระร่วง-สี่แยกคลองโพธิ์ บริเวณถนนสายสุโขทัย-เมืองเก่า กม.167+930-167+568  บริเวณทางหลวง 1113 ตอนเมืองเก่า-ดอนโก กม.2+075-2+600(บ.คุ้งหวาย-บ.ปากคลอง) และถนนสายสุโขทัย-เมืองเก่า บริเวณวิทยาลัยเทคนิค ต.บ้านกล้วย  อำเภอเมืองสุโขทัย  ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวกเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้น

โครงการชลประทานสุโขทัย ได้จัดจราจรน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทาน ที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 485.5 ลบ.ม./วินาที ส่วนด้านเหนือปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์  ได้ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายผ่าน ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 177.27 ลบ.ม./วินาที  และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ อัตรา 356.60 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับต่ำ ทำให้ปริมาณน้ำที่มาจากลำน้ำแม่มอกระบายลงได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองเล็กต่างๆ รวม 99.45 ลบ.ม./วินาที รวมไปถึงระบายน้ำผ่านปตร.บ้านยางซ้าย 277.15 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดการระบายน้ำไปยังด้านท้าย ทำให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวก พร้อมกับเร่งระบายน้ำในลำแม่มอกเข้าสู่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ แก้มลิงวังทองแดง และแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งปากพระ และส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำยมต่อไป 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย 3 เครื่อง อ.สวรรคโลก 7 เครื่อง อ.เมืองสุโขทัย 8 เครื่อง อ.กงไกรลาศ 4 เครื่อง อ.ศรีนคร 5 เครื่อง เพื่อช่วยสูบน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

#Thejournalistclub #น้ำท่วม #สุโขทัย