คลังชงครม.ให้แบงก์รัฐลด-ตรึงดอกเบี้ย แบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน

คลัง ชงครม.เคาะมาตรการการเงิน ให้แบงก์รัฐลดและตรึงดอกเบี้ย ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

  • ส่งสัญญาณแบงก์พาณิชย์ต้องลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าตัวเองด้วย
  • ส่วนกนง.วันที่ 10 เม.ย.นี้ หวังว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย
  • ประคับประคองเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)​ ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.​)​ วันที่ 26 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการการเงินให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยมาตรการการเงินครั้งนี้ ด้วยการให้สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง นำร่องลดดอกเบี้ยและตรึงดอกเบี้ยให้กับประชาชน  

ส่วนมาตรการที่เตรียมเสนอครม.พิจารณา ได้แก่ 1. สินเชื่ออิกไนท์ ไทยแลนด์  (IGNITE THAILAND) ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน สนับสนุนให้เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะสนับสนุนให้ไทย เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว  ศูนย์กลางการแพทย์ และศูนย์กลางอาหาร  2. โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคน โดยธนาคารออมสินได้เตรียมวงเงินไว้ให้ผู้มีสิทธิดังกล่าวเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ 3.สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4. สินเชื่อที่อยู่อาศัย จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)5. สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการส่งออก จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)​หรือเอ็กซิมแบงก์   

“การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปถึงธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16%”

นายพรชัย กล่าวต่อว่า  สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราชะลอตัว ซึ่งปี67 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ  ถือเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ 

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กระทบการส่งออก และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม  ที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนไปกว่า 400,000 ล้าน และยังคงเดินหน้าช่วยเหลือต่อไปตามนโยบายรัฐบาล

“การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ”

นายพรชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัย และเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7% ส่วนสัดส่วน SM ของแบงก์รัฐทั้งหมดอยู่ที่ 5%

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)​ วันที่ 10 เม.ย.นี้ หวังว่าคณะกรรมการกนง.จะพิจารณารอบด้าน และปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จากปัจจุบัน 2.50% เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค และกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้เกิดขึ้นในช่วงนี้