นายกฯเศรษฐา-มท.-พาณิชย์หนุนบางจากบูมผ้าไทยใส่ให้สนุก

บางจาก นำทีมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สนองแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาชูสังคมยั่งยืนส่งเสริมการผลิตและใช้ผ้าไทยหนุนชุมชนยั่งยืน

  • นายกฯเศรษฐาเดินสายไม่หยุดเป็นพยานลงนามของบางจากกับวิชชัยผ้าทอหนองบัวลำภู
  • 2กระทรวงมหาดไทยพาณิชย์  ตบเท้าหนุนเศรษฐกิจชุมชนสร้างงานและรายได้โตยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการผลิตและการใช้ผ้าไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชน ระหว่างบางจาก และนางสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ ประธานวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์การเรียนรู้และออกแบบขวัญตา) สนับสนุนความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ระหว่างเปิดงาน STYLE Bangkok 2024 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ร่วมงานด้วยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะร่วมกันขยายผลโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่สืบสานแนวพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้จากงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทย สู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ครอบครัว ชุมชนเพื่อร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยมีวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์การเรียนรู้ออกแบบขวัญตา) เป็นผู้ออกแบบลวดลายผ้าทอเฉพาะให้กับผู้บริหารและพนักงานสวมใส่ ด้วยฝีมือตัดเย็บของสถาบันดังกล่าว และช่างฝีมือในชุมชนบ้านห้วยลึก ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู 

ทางบางจากฯ ได้ใช้โอกาสที่ดีปี 2567 กำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนสร้างสังคมยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ Regenerative Society ตามแนวคิด “ส่งต่อความสุขไม่สิ้นสุด Regenerative Happiness” ต่อยอดจากก่อนหน้านี้มุ่งส่งเสริมการสร้างงานและรายได้ให้ชุมชนต่าง ๆ รักษาเอกลักษณ์อาชีพเกี่ยวกับผ้าซึ่งเป็นอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไว้ให้ได้มากที่สุด ตอนนี้จึงขยายวงกว้างมากขึ้นสู่สังคมที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นต่อไปในอนาคต -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน