“ปานปรีย์” ยื่นหนังสือลาออก “รมว.ต่างประเทศ”หลังหลุดเก้าอี้รองนายกฯ

ปานปรีย์
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ

“ปานปรีย์” ยื่นหนังสือลาออก “รมว.ต่างประเทศ” ลั่น! ไม่เกี่ยวกับไม่มีผลงานแน่นอน พร้อมขอบคุณนายกให้โอกาสทำงานกับรัฐบาลนี้มาช่วงเวลาหนึ่ง

  • ลั่น! ไม่เกี่ยวกับไม่มีผลงานแน่นอน
  • พร้อมขอบคุณนายกฯ ที่ให้โอกาสทำงาน

วันที่ 28 เมษายน 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่องขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า

ตามที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่ง และปรากฏว่าผมยังคงดำรง ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่เพียงตำแหน่งเดียวนั้น

ผมมีความประสงค์จะขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2567 เพื่อเปิดทางให้ท่านอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

สาหตุของการปรับผมออกจากรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ผมเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับผมไม่มีผลงานแน่นอน เพราะผมทุ่มเทการทำงานด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

และตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนมากขึ้น

ตามที่รัฐบาลได้แถลงผลงานไปแล้ว จนสามารถตอบสนองต่อนโยบายการ ทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างเด่นชัด วันนี้ไทยหวนกลับมาขึ้นบนจอเรด้าของโลก มีมิตรประเทศเพิ่มขึ้น และมีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น

นอกจากนั้น การให้ความสำคัญกับคนไทยในต่างประเทศ ผมยังไปเจรจาด้วยตัวเอง เพื่อนำคนไทยผู้ถูกจับเป็นตัวประกันในอิสราเอลกลับไทยได้ถึง 23 คน แรงงานไทย 8,000 คน

และจากเล่า ก็ก่ายในเมียนมาอีก 1,000 คน เปิดวีซ่าฟรีกับหลายประเทศ เพื่อคนไทย มีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น

การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แก่ชาวเมียนมา ฟื้นความสัมพันธ์กับอาเซียน สหภาพอียู อินเดีย และประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา และ จีน จนเกิดการเจรจา ลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ในประเทศไทยอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า การปรับคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะช่วยให้ การบริหารราชการแผ่นดิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น โปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของชาติต่อไป

ขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้โอกาสผมได้ทำงานกับรัฐบาลนี้มาช่วงเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็แหล่งข่าวระบุว่า การลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้ น่าจะมาจากความน้อยใจในการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีการปรับคณะรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้  ราชกิจจานุเบกษา  ได้เผยแพร่ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2566 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2566 นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสม และบังเกิดประโยชน์ ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

2.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

3.นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

4.นายเศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

5.นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

6.นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

7.นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

8.นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

9.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

10.นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง

2.นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3.นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

4.นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

5.นางสาวจิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

6.นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

7.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

8.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

9.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

10.นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

11.นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

12.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) เศรษฐา 1/1ว่า ไม่ต่างจากเดิมมากนัก

มีรัฐมนตรีว่าการเพียง 2 คนที่เปลี่ยนเข้ามา หากดูลึกๆ คนที่เป็นเลือดแท้พรรคเพื่อไทย ต่อสู้ฝันฝ่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยขาลงค่อนข้างจะไม่ประสบความสำเร็จตามหวังเท่าไหร่

ตนคิดว่าต้องไปดูว่าสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยปรับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ มีจุดประสงค์เพื่ออะไร

เมื่อถามว่าเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ตำแหน่งรัฐมนตรียุคพรรคเพื่อไทยว่าเป็นสมบัติผลัดกันชมหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า ถือว่าพรรคเพื่อไทยรักษาคาแรกเตอร์ เพราะในอดีตก็พูดกันว่า 6 เดือนเปลี่ยน ก็ไม่แตกต่างกัน และเป็นสไตล์การบริหารของพรรคเพื่อไทย แต่แน่นอนว่าจะบริหารอย่างไร ต้องสอดคล้องกับงาน ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐมนตรีที่ไม่ตรงกับงานกลับได้อยู่ต่อ แต่รัฐมนตรีที่ถูกมองว่าตั้งตรงกับตำแหน่งหน้าที่กลับถูกปรับออกอันดับต้นๆ

เมื่อถามว่านายแพทย์ชลน่านควรนั่งรัฐมนตรีฯต่อหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า หากมองแบบใจเป็นกลาง คนเป็นหมอควรได้ดูกระทรวงสาธารณสุขที่สุด

“คนที่วิกฤตและลำบากที่สุดในตลอดช่วงเลือกตั้ง รวมไปถึงช่วงเป็นผู้นำฝ่ายค้านตลอด 4 ปี ก็น่าจะเป็นอดีตผู้นำฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาจัดตั้งรัฐบาลหลังจากพ่ายแพ้ คนที่เหนื่อยที่สุด หนีไม่พ้นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ที่ต้องแบกรับทุกสถานการณ์ทุกอย่างเป็นต้นทุนส่วนตัวที่ต้องแบกรับ แต่เมื่อถึงเวลาจะตั้งรัฐบาลได้แล้ว สิ่งแรกที่เขาดำเนินการคือปรับท่านออก ก็ถือว่าน่ากังวลใจอย่างยิ่ง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://thejournalistclub.com/pm-cabinet-adjust-11012024/244021/ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/28469.pdf

ปานปรีย์ ลาออก
“ปานปรีย์” ลาออก
ปานปรีย์ ลาออก
“ปานปรีย์” ลาออก