สหรัฐฯยันเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินแอร์บัส15%

  • สินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าจากยุโรปคงเก็บอัตราสูงที่25%
  • ตอบโต้ยุโรปไม่ทำตามคำตัดสินWTOให้เลิกอุดหนุนส่งอกเครื่องบิน
  • ยุโรปรอ WTO ไฟเขียวตอบโต้สหรัฐฯเมินทำตามคำตัดสินเช่นกัน

สหรัฐฯ ยืนยันยังคงเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินแอร์บัส 15% และสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป 25% หลังจากได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 จากเดิมเก็บที่ 10% แม้มีความพยายามจากสหภาพยุโรป ให้ระงับข้อพิพาทด้านการอุดหนุนอากาศยาน ที่เป็นปัญหาขัดแย้งกันมายาวนานถึง 16 ปี

  โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) กล่าวว่า สหภาพยุโรปไม่ได้ดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับคำตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO) และสหรัฐฯจะริเริ่มกระบวนการใหม่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาขัดแย้งที่ยาวนานระหว่างกัน นอกจากนี้ UST จะทบทวนรายการสินค้ายุโรปมูลค่า 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง โดยจะถอดสินค้าบางรายการจากกรีซ และอังกฤษ และจะเพิ่มสินค้าจากเยอรมนี และฝรั่งเศสเข้าไปแทน 

  ล่าสุด แอร์บัส กล่าวว่า รู้สึก “เสียใจอย่างยิ่ง” ที่สหรัฐฯติดสินใจคงอัตราภาษีนำเข้าเครื่องบินแอร์บัสในอัตราสูงต่อไป  

ขณะที่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของสหภาพยุโรป ระบุว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯในการคงเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงต่อไป จะช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ลุกลามมากไปกว่านี้ และยังได้เรียกร้องให้ทั้ง 2 มหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน  

  ส่วนฟิล โฮแกน กรรมาธิการด้านการค้า ยืนยันว่า จะเปิดการเจรจากับไลท์ไฮเซอร์จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับได้ และย้ำว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงนี้ ทำให้การยุติข้อพิพาทเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ 

  อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนก.ค.2563 แอร์บัสประกาศจะจ่ายคืนเงินกู้ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส และสเปนเพิ่มขึ้น เพื่อให้สหรัฐฯเลิกเก็บภาษี และยอมสงบศึกกับยุโรปเรื่องที่ยุโรปให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมเครื่องบินมูลค่านับพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐฯ  

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามคำตัดสินของ WTO เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ยกเลิกมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้กับอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโบอิ้งอย่างมาก แต่ในเดือนต.ค.2563 สหรัฐฯได้ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอาหาร ไวน์และสุรากลั่นจากยุโรป รวมถึงชีส จากอิตาลี และสก็อตช์วิสกี้ ในอัตรา 25% เพื่อตอบโต้กรณีที่สหภาพยุโรปให้เงินอุดหนุนแก่แอร์บัส  

สำหรับข้อพิพาททางการค้าดังกล่าว เริ่มขึ้นตั้งแต่สหรัฐฯ ยื่นฟ้องร้องสหภาพยุโรปต่อ WTO ในปี 2547 ว่าใช้มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมอากาศยาน โดยเฉพาะ บริษัท แอร์บัส เช่น ให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาโรงงานผลิต เป็นต้น ซึ่งเข้าข่ายเป็นการอุดหนุนการส่งออกที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสหรัฐฯ และขอให้สหภาพยุโรปยกเลิกการใช้มาตรการ  

โดย WTO ตัดสินว่า สหภาพยุโรปใช้มาตรการที่ขัดกับกฎเกณฑ์ WTO จริง และให้ยกเลิกการใช้มาตรการ แต่ยุโรปไม่ยอมดำเนินการตาม ส่งผลให้เมื่อปี 2561  WTO อนุญาตให้สหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าได้ ในเบื้องต้น สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป มูลค่า 11,000 ล้านเหรียญฯ แต่ WTO ให้ลดลงเหลือ 7,500 ล้านเหรียญฯ ส่วนยุโรป ได้ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯเป็นการตอบโต้ มูลค่า 12,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นผลจากคำตัดสินของ WTO เมื่อปี 2555 ที่ยุโรปได้ยื่นฟ้องว่าสหรัฐฯให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะบริษัท โบอิ้ง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อยุโรปเช่นกัน โดยยุโรปอยู่ระหว่างรอคำตัดสินของ WTO ถึงระดับการตอบโต้ทางการค้ากรณีที่สหรัฐฯไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO เช่นกัน