สรท.เตรียมเสนอ “White Paper”เชื่อมขนส่งแบบไร้รอยต่อทั้ง “รถ-เรือ-ราง-ลิ้งค์”

  • เปิดประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี -จีน
  • ส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  • ยกระดับท่าเรือหลักของประเทศ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้จัดทำ White Paper 2022: CLMVT Connectivity Multimodal Transportation in the Next Normal หรือ “รุกรวดเร็ว รถ-เรือ-ราง-ลิ้งค์” เพื่อนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการเตรียมความพร้อมโอกาสของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้ากระจายสินค้าไปยังเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจของไทยและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMVT เชื่อมโยงสู่จีน โดยใช้การเชื่อมโยงเครือข่ายสำคัญภายในประเทศในลักษณะการขนส่งแบบ Multimodal Transport อีกทั้งเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต

White Paper ฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์รายละเอียดโดยหยิบยก เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนในการขนส่งไว้เป็นทางเลือกในการกำหนดรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งระบบทางราง ทางถนน (บก) และทางน้ำ วิเคราะห์ความท้าทาย โอกาส อุปสรรค ในแต่ละรูปแบบของการขนส่งทางเลือก เชื่อมโยงภายในประเทศไปยัง Corridor สำคัญต่างๆ รวมถึงการขนส่งทางถนน ไปยังกลุ่มประเทศ CLMVT และการเชื่อมต่อการขนส่งทางรางจากลาว – จีน

การขนส่งแบบ Multimodal Transport จะมีส่วนในการช่วยลดต้นทุนและเอื้ออำนวยต่อกระบวนการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และทำให้การส่งมอบสินค้าภายใต้หลักการจัดการโลจิสติกส์ ข้อตกลงร่วมกันว่าจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี (free flow) ซึ่งประเทศไทยอาจเป็น HUB ศูนย์กลางกระจายสินค้าของภูมิภาคนี้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุน และเร่งพัฒนารูปแบบการขนส่ง ต่อเนื่องหลายรูป แบบMultimodal Transport ภายในประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาวะปัจจุบันที่มีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพหรือด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดการ ทั้งด้านคุณภาพต้นทุน และการขนส่ง ซึ่งต้นทุนการขนส่งเป็นต้นทุนที่สำคัญต้นทุนหนึ่งในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นในการเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนของผู้ผลิตในการส่งออกและนำเข้า ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุน และเร่งพัฒนารูปแบบการขนส่ง ต่อเนื่องหลายรูป แบบMultimodal Transport ภายในประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity)

“รายงานและข้อเสนอดังกล่าว สรท.จะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือ กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น เพื่อให้นำไปพิจารณาต่อไป”นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับข้อเสนอสำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสในการขนส่งสินค้าผ่านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศและเชื่อมโยงไปยังประตูการค้าชายแดนสำคัญไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMVT และ จีน ผ่านเส้นทางรถไฟ ลาว – จีน ประกอบด้วย

1.การพัฒนาการใช้ระบบการส่งผ่านข้อมูลข้ามแดนทางศุลกากรของอาเซียน (ASEAN Customs Transit System: ACTS) ซึ่งเป็นระบบส่งผ่านข้อมูลแบบไร้เอกสาร ให้มีลักษณะเป็น Stop Inspection/Single Window Inspection โดยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบควรมีการดำเนินการภายใต้เอกสารฉบับเดียว มีการควบคุมและจัดการที่มีประสิทธิภาพ

2.การอำนวยความสะดวกทางการค้าและศุลกากร ประเด็น Cross Border Trade Agreement: CBTA การแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรทางถนน ในเส้นทางถนนเพื่อเชื่อมโยงจากไทยไปยังประเทศเป้าหมายผ่านประเทศจีน การใช้ประโยชน์จากข้อตกลง CBTA เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง เช่น การเพิ่มเส้นทางการขนส่ง ปริมาณรถขนส่ง น้ำหนักบรรทุกการกำหนดมาตรฐานของรถและคนขับให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

3.การศึกษา Node ที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโหมดการขนส่ง จัดสรรพื้นสถานีรถไฟที่เหมาะสม และมีศักยภาพที่สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งทางบก และทางน้ำ โดยมีพื้นที่ที่ใช้กองเก็บสินค้า และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับรถบรรทุก

4.การจัดทำข้อมูล Freight Rate Database เพื่อเปรียบเทียบราคาค่าระวางอ้างอิงทางราง และระยะเวลาในการขนส่ง

5.การยกระดับท่าเรือหลักของประเทศให้เป็น Smart Port รวมถึงการเพิ่ม Capacity และเครื่องมือยกหรือสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ เพื่อยกระดับการให้บริการขนถ่ายในท่าเรือ ลดปัญหาความแออัด และลดปริมาณฝุ่น PM2.5

6.ยกระดับ ICD พื้นที่สำคัญ ให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการจริง เช่น นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา (บางกล่ำ) อยุธยา (วังน้อย) และพื้นที่รอบกรุงเทพฯ บางนา พุทธมณฑล พระราม 2 บางใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าภายในประเทศลดความแออัดภายในท่าเรือหลักของประเทศ และสนับสนุนการส่งออก

7.เสนอให้จัดตั้งจุด Common Control Area (CCA) ในการตรวจสอบสินค้าร่วมกันระหว่าง 3-4 ประเทศในเส้นทาง รวมถึงการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ให้ครบทุกกิจกรรมในพื้นที่ทั้ง ด่านรถบรรทุกและรถไฟอุปกรณ์ขนถ่ายในด่านใหญ่ที่สำคัญ เช่น แม่สอด แม่สาย มุกดาหาร นครพนม หนองคาย บ้านคลองลึก สะเดา เป็นต้น

8.การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสร้างเครือข่ายพันธมิตร LSPs ในแต่ละประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกและเจรจา ในการขนส่งผ่านประเทศนั้นๆ จุดชายแดนในแต่ละจุดควรมีประสานงาน และ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงเจรจาร่วมกันถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบการขนส่งสินค้าระหว่างกันให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าว เพื่อให้มีการให้การสนับสนุนและให้การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการขนส่ง โดยเฉพาะ SMEs ได้มีความเข้าใจถึงผลกระทบ และการเตรียมตัวในเรื่องการปรับตัว เพื่อที่จะสามารถแข่งขันการค้าระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคต่อไป