สธ.เร่งฉีดวัคซีนโควิดควบ “ไข้หวัดใหญ่”ให้ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน

  • ป้องกันป่วยรุนแรง-การเสียชีวิต
  • หลังสงกรานต์ ยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง 2 เท่า
  • “หมอจุฬา” แนะติดเชื้อควรแยกตัว 7-10 วัน

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ เดอะ พาเร้นท์ส เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดกิจกรรม”ห่วงใยผู้สูงวัย ด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ห่างไกลโควิด-19″ โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน โดยในภายงานมีผู้แทนหน่วยงานจากกรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานเขตสะพานสูง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.)คณะผู้บริหารกรมควบคุมโรคและผู้บริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ เดอะพาเร้นท์ส เข้าร่วม รวมทั้งมีการให้บริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปและการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก ให้กับผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ เดอะพาเร้นท์สและผู้สูงอายุในชุมชนรอบข้างด้วย

นายแพทย์ธเรศ ให้สัมภาษณ์ว่าการจัดกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้เข้าถึงข้อมูลและเห็นความสำคัญถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ เข้ารับบริการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ในกลุ่มเปราะบาง ลดความเสี่ยง ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต

กรมควบคุมโรครายงานว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงฤดูฝนพร้อมกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม 607 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น จะมีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป จะสามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

“แต่ด้วยปัญหาการเข้าถึงบริการส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มเป้าหมายยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ไม่เพียงพอในด้านประโยชน์ ความสำคัญ และความปลอดภัยของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19ก็ทำให้กลุ่มเป้าหมายชะลอ หรือปฏิเสธการรับวัคซีนได้ จึงต้องสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ เป็นวงกว้าง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ทราบถึงประโยชน์ และเพิ่มโอกาสเข้ารับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปของผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ อันจะส่งผลดีต่อทั้งต่อสุขภาพของตนเอง ป้องกันคนในชุมชน รวมถึงเป็นการรักษาระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”นายแพทย์ธเรศ กล่าว

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์โควิด -19 ในประเทศไทย พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ และส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตในกลุ่ม 607 มีประวัติ ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนนานเกิน 3 เดือน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการป่วยหนักจากโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝน กรมควบคุมโรค จึงขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงทุกคน ติดต่อเข้ารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน

พร้อมระบุว่าหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามไปยังสถานพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือสำนักอนามัย กทม. ทั้งนี้ ผู้ต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเข้ารับการฉีดพร้อมวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยฉีดที่แขนคนละข้าง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ระบุว่า…เช้านี้..ยังคงมีรายงานให้ทราบว่าติดกันรัวๆ ระลอกนี้เยอะมากนะครับ ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน

ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากติดเชื้อและแยกตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75% 7 วัน 25-30% 10 วัน 10% 14 วัน ก็จะปลอดภัย แต่หากไม่แยกตัว หรือแยกตัวระยะสั้น ไม่เพียงพอ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ