รอปัจจัยบวกใหม่”ดาวโจนส์”เริ่มไม่คึกปิดบวก 11 จุด

  • ปิดตลาดดัชนีบวกน้อยๆ หลังปิดในแดนบวกต่อเนื่อง 4วัน
  • ความหวังเศรษฐกิจฟื้น หลังคลายล็อกดาวน์ปัจจัยหลักประคองขวัญนักลงทุน
  • หุ้นสายการบินทะยาน หลังอเมริกัน แอร์ไลน์ ประกาศเพิ่มตารางเที่ยวบิน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 4 มิ.ย.ที่ 26,281.82 จุด เพิ่มขึ้น 11.93 จุด หรือ +0.05% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,112.35 จุด ลดลง 10.52 จุด หรือ -0.34% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 9,615.81 จุด ลดลง 67.10 จุด หรือ -0.69%

นักลงทุนยังมีมุมมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคาดว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รวมทั้งการว่างงาน หลังประเทศทยอยกลับมาเปิดเศรฐกิจอีกครั้ง และเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.877 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยลดลงต่ำกว่าระดับ 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนยังขานรับธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ที่ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการฉุกเฉินอีก 6 แสนล้านยูโร เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หุ้นกลุ่มสายการบินพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังจากอเมริกัน แอร์ไลน์ ประกาศเพิ่มตารางเที่ยวบินในเดือนก.ค.ขึ้นเป็น 55% ของกำลังการบินเมื่อปีที่แล้ว ภายหลังจากสหรัฐเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ทะยานขึ้น 41.1% หุ้นเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 5.08% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 16.2% หุ้นเดลต้า แอร์ไลน พุ่งขึ้น 13.73%
ขณะที่หุ้นโบอิ้งปิดตลาดพุ่งขึ้น 6.4%

หุ้นอีเบย์ พุ่งขึ้น 6.3% หลังจากบริษัทปรับเพิ่มคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยอดสั่งซื้อสินค้าผู้บริโภคพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

หุ้นอเมซอน ปรับตัวลง 0.72% หลังจากพนักงานคลังสินค้าจำนวน 3 รายได้ยื่นฟ้องอเมซอนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยระบุว่า สภาพการทำงานในคลังสินค้าได้ทำให้พวกเขาและครอบครัวมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างประเทศออกมาไม่ดี โด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 16.7% สู่ระดับ 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

โดยการนำเข้าสินค้าลดลง 13.7% สู่ระดับ 2.007 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2553 ขณะที่การส่งออกทรุดตัวลง 20.5% สู่ระดับ 1.513 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2553 โดยเศรษฐกิจการค้าทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5% รวมทั้งการประชุมของธนาคารสหรัฐ(เฟด)ในสัปดาห์หน้า