ประธาน “เฟด” ยันไม่ใช้เงินเฟ้อกดดันขึ้นดอกเบี้ย

  • ชี้เงินเฟ้อเพิ่มหลังเปิดเศรษฐกิจ-ความต้องการสินค้าพุ่ง
  • ย้ำไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยและไม่ขึ้นก่อนเวลาอันควรแน่นอน
  • จับตาตลาดแรงงานฟื้นเป็นวงกว้าง-ครอบคลุมทุกภาคส่วน

ประธานเฟด ให้คำมั่นไม่ใช้ “เงินเฟ้อ” เป็นเงื่อนไขขึ้นดอกเบี้ย พร้อมหนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วน 

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯในช่วงเช้าตรู่วันนี้ (23 มิ.ย.) ตามเวลาไทยว่า เฟด มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วน และเฟดจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป 

“ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ได้บ่งชี้ว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเรามองว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ เป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากการเปิดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เราจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร เพียงเพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อปัจจัยเดียว แต่เราจะรอให้มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อ หรือภาวะไร้สมดุลในด้านอื่นๆ ก่อนตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย”  

นายพาวเวล กล่าวต่อว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัวเป็นวงกว้างจนทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าและการบริการ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และภาวะติดขัดด้านอุปทานในช่วงที่สหรัฐฯเริ่มเปิดเศรษฐกิจ หลังจากต้องปิดเศรษฐกิจเป็นเวลานานเนื่องจากโควิด-19 โดยเชื่อว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้านั้น จะชะลอตัวลงในท้ายที่สุด 

“ผมอาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าที่เราคาดการณ์ไว้ และอาจกลายเป็นผลกระทบที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่เราคาด แต่เชื่อว่า ข้อมูลที่เราจะได้รับในวันข้างหน้านั้น จะสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่า ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ จะอ่อนแรงลงในวันข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แต่แน่นอนว่า หากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นตามที่คาดไว้ เราก็จะใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับเรื่องนี้”  

นายพาวเวล ยังกล่าวถึงนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไปว่า เฟดจะจับตาข้อมูลสถิติของตลาดแรงงานเป็นวงกว้าง รวมถึงจับตาดูว่า ตัวเลขจ้างงานของประชาชนกลุ่มผิวสี และกลุ่มอื่นๆ มีความแตกต่างกันมากเพียงใด