ประธานาธิบดีจีนเสนอกลุ่มชาติอาหรับ ซื้อขายน้ำมันเป็นสกุลเงินหยวน

Saudi Crown Prince Mohammed Bin Salman and Chinese President Xi Jinping attend the China-Arab summit in Riyadh, Saudi Arabia December 9, 2022. Saudi Press Agency/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS PICTURE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY
  • ยังไม่ถึงเวลาเหมาะสมแต่จะมีการพิจารณา
  • จีนและซาอุดีอาระเบียลงนามเอ็มโอยูรวม34 ฉบับ
  • เกี่ยวกับพลังงานสีเขียว เทคโนโลยีสารสนเทศ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอด ระหว่างจีนกับคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ ( จีซีซี ) ซึ่งสมาชิกได้แก่ บาห์เรน คูเวต กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) และซาอุดีอาระเบีย ว่าจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าพลังงานหมายเลขหนึ่งของโลก จะยังคงเดินหน้าซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว ( แอลเอ็นจี ) “ในปริมาณมหาศาล” จากกลุ่มประเทศอาหรับต่อไป

จ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในการประชุมสุดยอด ระหว่างจีนกับคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ ที่กรุงริยาด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลปักกิ่ง “คือพันธมิตรที่ดี” ของกลุ่มประเทศอาหรับทุกแห่ง ในการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังเสนอแนวคิดการซื้อขายพลังงานเป็นสกุลเงินหบวน ร่วมกับกลุ่มประเทศอาหรับด้วย แต่ยังไม่มีการลงลึกมากนักในรายละเอียด

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลริยาดกล่าวว่า แน่นอนแนวคิดดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่จีน “ทว่ายังไม่ถึงเวลาเหมาะสม แต่จะมีการพิจารณา” ปัจจุบัน สินทรัพย์ของซาอุดีอาระเบียเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลริยาดถือครองพันธบัตรรัฐบาลวอชิงตันสะสมเป็นมูลค่ามากกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.15 ล้านล้านบาท ) อีกทั้งค่าเงินริยัลซาอุดีอาระเบียยังคงผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตรัสต่อที่ประชุม เป็นการทรงยกย่อง “ประวัติศาสตร์ใหม่ในก้าวย่าวความสัมพันธ์กับจีน” โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสาร “ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับผู้นำจีน

ขณะที่ตัวแทนระดับสูงของทั้งสองประเทศ ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจ ( เอ็มโอยู ) ในการให้บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เตรียมเป็นผู้พัฒนาระบบคลาวด์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี ตามเมืองใหญ่ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการลงนามที่ได้รับการวิเคราะห์จากหลายฝ่าย ว่า เสมือนเป็น “การตบหน้า” สหรัฐ ที่เพิ่งยกระดับมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่อหัวเว่ย และพยายามวิ่งเต้นไม่ให้ตะวันออกกลาง ใช้บริการเทคโนโลยีของจีน

ด้านสำนักข่าวแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ( เอสพีเอ ) รายงานเพิ่มเติมว่า จีนและซาอุดีอาระเบียลงนามร่วมกันในเอ็มโอยูรวมทั้งสิ้น 34 ฉบับ ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับพลังงานสีเขียว เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการระบบคลาวด์ การคมนาคม การก่อสร้าง และอีกมากมาย โดยข้อตกลงทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.04 ล้านล้านบาท ).

เครดิตภาพ : REUTERS