ททท.เล่นใหญ่เทรนด์เที่ยว “Emotion+Cinematic” ปี’66 ชูโมเมนท์ที่ใช่-ทำหนังโฆษณาดูดเงิน “ซาอุ-อินเดีย-ยุโรป-เมกา”

  • ททท.งัดซีรีย์แผนสื่อท่องเที่ยวปี’66 งัดใช้เทรนด์ “Emotion +Cinematic”
  • ผลิตหนังโฆษณาสไตล์ปลุกอารมณ์ความรู้สึก “เที่ยวไทย” บูมโมเมนท์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ
  • “ต่างประเทศ” โหมขาย “Reunion Meaningful” ชวนนักเดินทางทั่วโลกกลับมาย้อนความทรงจำอย่างมีคุณค่า
  • สอดแทรกทุกโปรแกรมใส่โปรแกรม BCG+Happy Model+RT
  • พุ่งเป้าชิมรางโกย 3 ตลาดโลก “ตะวันออกกลาง” หันลงทุนเปิดโรงหนังกลางเมืองคนดูอื้อ
  • “อินเดียขาใหญ่เอเชีย” แห่แต่งงานฮันนีมูนในไทย “ยุโรป/อเมริกา” ตื่นกระแสรักษ์โลกลดคาร์บอน

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า วางกลยุทธ์ทำสื่อสารการตลาดท่องเที่ยวโค้งสุดท้ายปีงบประมาณสิงหาคม-กันยายน 2565 เน้นใช้เนื้อหาสื่อสารการตลาดหรือ Content Communication ปูพรมขยายผลปีงบประมาณ 2566 กำลังจะเริ่ม 1 ตุลาคม 2565 ด้วยกลยุทธ์สื่อสารทางด้านอารมณ์ความรู้สึก Emotional Communicationเข้าถึงนักท่องเที่ยวในประเทศและทั่วโลก ประกอบด้วย

“ตลาดในประเทศ” เดินเกมใหม่เน้นเรื่อง “การโอกาสและเวลา” ทันทีภายใต้คอนเซ็ปต์ “โมเมนท์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ” เพราะเดิมคนส่วนใหญ่มักจะบอไม่มีเวลาไปเที่ยว ส่วนคอนเซ็ปต์ใหม่ปลุกอารมณ์ตอกย้ำให้คนใช้โอกาสตัดสินใจออกไปพักผ่อน พาครอบครัว พ่อแม่ ลูก ๆ ออกเดินทางไปยังสถานที่ชอบตามสไตล์ของตนเองในโมเมนท์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ เพียงแค่คนคิดก็ทำให้เกิดความสุขตั้งแต่วินาทีแรก ตั้งแต่เริ่มดีไซน์เครื่องแต่งกาย นึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ ไปกับคนรู้ใจ เป็นแรงกระตุ้นที่ดีให้ตัดสินใจออกเที่ยวทันที

“ตลาดต่างประเทศ” ททท.จะสื่อด้วย “Reunion” ชวนนักท่องเที่ยวกลับมาพบปะกันย้อนความทรงจำดี ๆ ด้วยกันอีกครั้ง ภายใต้คุณค่าหรือ Meaningful จากผลวิจัยพบว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คนทั่วโลกหันมาจองเดินทางท่องเที่ยว “เป็นหมู่คณะ” (GIT) นั่นหมายถึง ครอบครัวขยาย กลุ่มเพื่อน หลังรอคอยจะได้กลับมาพบเจอกันเพราะห่างหายกันไปนานเพราะสถานการณ์โควิดกินกว่าสองปี

ขณะนี้ต่างประเทศให้ความสำคัญกับกระแส Meaningful สื่อถึงความมีคุณค่าในการเดินทางที่ตอบโจทย์ตัวเองด้วยเป็นความคาดหวังที่จะทำให้การท่องเที่ยวของแต่ละคนได้ช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ ควบคู่กันไปด้วย ทั้งเรื่องประสบการณ์ร่วมในวิถีชีวิตของชาวบ้าน การรับประทานอาหารถิ่น บางคนไปเที่ยวเพื่อรักษาธรรมชาติที่สวยงามไว้แล้วเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกับธรรมชาติ

นายศิริปกรณ์ กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศและแผนตลาด ททท.ปี 2566 ยังได้เน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบาย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนสร้างโลกสีเขียว BCG :Bio-Circular-Green 2.การท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบ :RT -Responsible Tourism 3.โมเดลความสุข : Happy Model รวมทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและนานาประเทศที่เดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่จะทำคู่กัน 2 เรื่อง คือ

เรื่องที่ 1 ตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ใหญ่สอดแทรกทุกอนู ทุกความต้องการ ทุกคุณค่า ของการท่องเที่ยวภายใต้ประสบการณ์อันหลากหลายในเมืองไทย โดยมีโปรเจ็กต์ใหญ่รณรงค์นักท่องเที่ยวทุกคนหันมา “ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Neutral Carbon หรือ Zero Waste

เรื่องที่ 2 เลือกเครื่องมือสื่อสารการตลาดเพื่อเข้าถึงนักเดินทางทุกคน โดยใช้กระแส“ภาพยนตร์-Cinematic” เป็นเทรนด์ใหม่มาแรง ประมวลผลจากความถี่การดาวโหลดหนังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขจากงานวิจัยต่อเนื่องกัน 4 ปีตรงกันคือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30 % ปีนี้มีมากกว่า 1,000 ล้านสมาชิก (subscription) ตัวอย่าง ตอนนี้มีภาพยนตร์ไทย“บุพเพสันนิวาส 2” เข้าฉายในโรงภาพยนตร์วเพียงแค่วันแรกวันเดียวมีคนไทยและต่างชาติ (ประเทศเพื่อนบ้าน เช่นสปป.ลาว เวียดนาม ) เข้าชมหนังเรื่องนี้กว่า 50 ล้านคน

ททท.เตรียมใช้กระแสดังกล่าวเข้าถึงแพลตฟอร์มพร้อมกับนำคอนเทนท์ท่องเที่ยวไว้ในหนังโฆษณาปลุกกระแสทั้งตลาดคนไทยและต่างประเทศ สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้เหมือนกับการได้ดูหนัง ตอนนี้โฆษณา ททท.ผลิตชุดใหม่ออกมาแล้วชื่อชุด Amazing New Chapters เป็นหนังสั้น 3 เรื่อง คือ 1.ครอบครัว 2.คู่รัก 3.ผู้สูงวัยและเจเนอเรชั่นซี(Gen Z) 4.กลุ่มทำงานด้วยดิจิทัลแล้วท่องเที่ยวได้ด้วยหรือ Digital Nomad

เป็นแผนสื่อสารการตลาดปี 2566 ของ ททท.โดยยึดยุทธศาสตร์หลักทั้ง BCG+Happy Model+Meaningful” หนังใหม่กระตุ้นท่องเที่ยวจะเน้นเรื่อง “คุณค่าตอบโจทย์ตัวเอง” ทำให้โดนใจนักท่องเที่ยวครอบครัว เพื่อนฝูง กลุ่มเดินทางอิสระ สร้างความรู้สึกร่วมในโมเมนท์ความสุขที่ห่างหายไปนานออกสู่ตลาดในประเทศและทั่วโลกตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ตรงเป้ามากที่สุด

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า การเลือกใช้หนังโฆษณา “ตลาดต่างประเทศ” แบบสอดคล้องตรงเป้าหมายกับ 3 เทรนด์ 3 ตลาด ประกอบด้วย

ตลาดที่ 1 ตะวันออกกลาง พุ่งเป้านักท่องเที่ยวหลัก “ซาอุดิอาระเบีย” เมื่อสองประเทศฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีกลับมาหลังห่างกันไปกว่า 30 ปี ตอนนี้ทั้งการเดินทางท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ระว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียดีขึ้นอย่างรวดเร็วทางสายการบินซาอุดิอาระเบียเปิดบินทันทีตั้งแต่มีนาคม 2565 จนถึงขณะนี้ได้เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นตลอดเวลา โดยพบข้อมูลน่าสนใจคือ ชาวซาอุดิอาระเบีย หันมาสนใจนิยมเข้าโรงภาพยนตร์ดูหนัง ส่งผลให้การลงทุนเปิดโรงหนังเป็นจำนวนมากตามในเมืองใหญ่กลับมามีผู้ชมเต็มทุกรอบ

ททท.ได้ใช้กระแสที่ซาอุดิอาระเบียนิยมดูหนังเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยการสร้างหนังโฆษณาให้เข้าไปฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ซาอุดิอาระเบียที่มีผู้ชมจำนวนมาก จากนั้นก็จะขยายหนังโฆษณาท่องเที่ยวของเมืองไทยไปอยู่ในบนออนไลน์ มือถือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นต่อไป

ตลาดที่ 2 เอเชีย เป็นตลาดระยะใกล้ (shorthaul) ตอนนี้มาแรงสุด ๆ คือ “อินเดีย” กับกลุ่มประเทศอาเซียน ชูจุดขายท่องเที่ยวที่แตกต่างเน้นเรื่อองความสะดวกสบายในการเดินทางไปมาได้ตลอด หรือ Ease of travelling ผ่านทางบกด้วยการขับรถผ่านแดนเข้าไทย หรือทางอากาศบิน และทางน้ำ มีเส้นทางท่องเที่ยวเรือสำราญ และยอร์ช ในทะเลอันดามันและอ่าวไทย

ตลาดเป้าหมายหลักคือ “อินเดีย” ททท.จะกระตุ้นโดยใช้สื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกเจาะกลุ่มจัดแต่งงาน/Wedding” เพราะครอบครัวชาวอินเดียให้ความสำคัญมากกับการจัดงานขนาดใหญ่พร้อมฮันนีมูน บางกลุ่มถึงขั้นใช้เงินเช่าเครื่องบินเหมาลำมาแต่งงานในเมืองไทย

ตลาดที่ 3 ระยะไกล (Longhaul) ได้แก่ ยุโรป อเมริกา พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ RT :Responsible Tourism ททท.จะต้องพิสูจน์ดดยใช้สื่อสร้างอารมณ์ทั้งโมเมนท์การเดินทางและการสร้างความคุ้มค่า เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยนำเสนอรูปแบบการเดินทางเที่ยวเมืองไทยมีความหลากหลายและสะดวกสบาย

ขณะนี้ได้ริเริ่มเลือกสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งหันมาใช้รถประหยัดพลังงาน รถอีวี รถพลังงานไฟฟ้า แท็กซี่บางค่าเริ่มใช้รถระบบไฟฟ้า เรือท่องเที่ยว ก็เช่นกัน หรือโรงแรมทำแคมเปญรณรงค์พร้อมกับมีอุปกรณ์ชาร์ตแบตเตอรี่บริการรถระบบไฟฟ้าบ้างแล้ว

ส่วนร้านอาหารก็ปรับรูปแบบหันมาใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เสิร์ฟ Dine fining และมีการจัดการที่ดี หรือนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ ไทยก็มีอุตสาหกรรมการเกษตรไทยทำผลิตภัณฑ์พืชเกษตรแทนเนื้อสัตว์ เพื่อการบริโภควางจำหน่ายตามงานต่าง ๆ  เป็นเรื่องใหม่ที่ดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ททท.มีหน้าที่ต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไปนำเสนอกับนักท่องเที่ยวแต่ละตลาดอย่างชัดเจน ตอบโจทย์ประสบการณ์เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบเต็มรูปแบบ สร้างรายได้จากตลาดคุณภาพสูงเข้าประเทศปี 2566

นับจากนี้เป็นต้นไป ททท.จึงขอเชิญชวนคนไทยให้โอกาสสร้าง “โมเมนท์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ” สร้างความประทับใจให้เพื่อนร่วมทางและครอบครัว เมื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวขอให้บันทึกไว้แล้วแชร์ความรู้สึกดี ๆ สู่สังคม แล้วททท.จะนำข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่ร่วมกันแชร์รวบรวมโมเมนท์เหล่านี้มาผลิตเป็นคลิปวิดีโอเผยแพร่สู่สาธารณะสร้างกระแสการท่องเที่ยวให้มีพลังแข็งแกร่งและยั่งยืน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen