ดัชนีดาวโจนส์ ปรับลดลง 2.9 จุด นักลงทุนชะลอซื้อรอจับตาสงครามการค้า-เลือกตั้งอังกฤษ

  • ชี้ยังไม่ชัดเจนจีนและสหรัฐฯลงนามข้อตกลงการค้าใหม่ได้
  • การเลือกตั้งครั้งใหม่ในอังกฤษกระทบBrexit หรือไม่
  • นักลงทุนรอถ้อยแถลงประธานเฟด-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดตลาดวันที่ 6 พ.ย. ปรับตัวลง 2.91 จุดหรือ 0.01% ปิดที่ 27,489.72 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,074.41 ลดลงลง 0.21 จุด หรือ 0.01% จุดเช่นกัน ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิท ลดลง 28.29 จุดหรือ 0.34% ปิดที่ 8,406.39 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พักฐาน หลังขึ้นต่อเนื่องมา 3 วันติดต่อกัน และทำสถิติสูงสุดใหม่ทั้ง 3 ตลาด ทั้งนี้ นักงทุนเริ่มลดการซื้อขายลงเพื่อรอดูสถานการณ์ และปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามากระทบตลาด ทั้งในเรื่องการลงนามข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ยังไม่ชัดเจนถึงเวลาและสถานที่ที่จะลงนาม รวมทั้งติดตามการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอังกฤษ หลังมีการประกาศยุบสภา ว่าจะมีผลต่อการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไร นอกจากนั้น ยังจับตามองทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง 3 ครั้งติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐรายหนึ่งระบุว่า การพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เพื่อลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรก อาจมีการเลื่อนออกไปเป็นเดือนธ.ค. จากเดิมที่มีกำหนดในเดือนนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงต้องเจรจาการค้ากันต่อไป รวมทั้งหารือกันเกี่ยวกับการหาสถานที่ในการลงนามข้อตกลง

โดยรายงานข่าว ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือเกี่ยวกับการหาสถานที่ลงนามข้อตกลง โดยมีการเสนอชื่อหลายประเทศในเอเชียและยุโรป ได้แก่ กรีซ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อลาสก้า แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า รัฐไอโอวา ซึ่งปธน.ทรัมป์เสนอให้เป็นสถานที่ลงนามข้อตกลงนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับการคัดเลือก

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะแถลงต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในวันที่ 13 พ.ย.โดยนายพาวเวลจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรสในเวลา 11.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 23.00 น.ตามเวลาไทย

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 0.3% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี หลังจากแตะระดับ 2.5% ในไตรมาส 2 ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานจะมีการขยายตัว 0.9% ในไตรมาส 3