“ซูเปอร์โพล”เผยประชาชนเป็นห่วงภัยไซเบอร์มากกว่าปัญหายาเสพติด

“ซูเปอร์โพล”เผยประชาชนกว่า 60% เป็นห่วงภัยไซเบอร์มากกว่าปัญหายาเสพติด ตามด้วยปัญหาข้าวของ สินค้าราคาแพง และค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันค่าโทรศัพท์

  • ตามด้วยปัญหาข้าวสินค้าราคาแพง
  • ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
  • และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

วันที่ 19 พ.ย. 2566 นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และในบทบาทกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ผู้แทนภาคประชาชน เสนอผลสำรวจความรู้สึกของประชาชน (Sentiment Survey) เรื่อง โอกาสรัฐบาลกับภัยไซเบอร์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,922 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงฐานะทางการเงินของทุกคนในครอบครัวรวมกัน เปรียบเทียบระหว่าง ปีที่ผ่านมา กับ ปัจจุบันในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 40.6 แย่ลง ร้อยละ 38.5 เหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 20.9 ดีขึ้น

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ปัญหาเดือดร้อน/ภัยที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขเร่งด่วน เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ภัยไซเบอร์ กับ ภัยนอกไซเบอร์ พบว่า โจรไซเบอร์ มิจฉาชีพ ออนไลน์ ร้อยละ 60.0 เป็นปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนมากกว่า ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 56.6 ในขณะที่ ปัญหาข้าวของ สินค้าราคาแพง และค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ร้อยละ 68.2 และ ร้อยละ 62.6 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเร่งด่วน/ภัยไซเบอร์ อันดับสองได้แก่ หลอกให้กู้เงินออนไลน์ ร้อยละ 59.1 ลิงก์ล่อเหยื่อ หลอก/ดูดเอาเงิน ร้อยละ 55.6 พนันออนไลน์ ร้อยละ 53.2 ภัยไซเบอร์เหล่านี้ เป็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขเร่งด่วนไม่แตกต่างจาก ยาเสพติด และหนี้นอกระบบ ที่มีอยู่ร้อยละ 56.6 และร้อยละ 54.5

ที่น่าพิจารณาคือ ปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเหยื่อภัยไซเบอร์ สูงถึงร้อยละ 50.0 และ หนี้ในระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ประชาชนเดือดร้อนหนักมีมากถึงร้อยละ 52.8

นายนพดล กล่าวว่า หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้แถลงความชัดเจนเกี่ยวกับการแจกเงิน เป๋าตัง แล้ว พบว่า ประชาชนให้โอกาสรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ทำงานเพิ่มขึ้นในทุกกรอบเวลาจนครบวาระ นั่นเป็นเพราะฐานะทางการเงินของประชาชนจำนวนมากแย่ลง และประสบภัยทางไซเบอร์กลายเป็นปัญหารุนแรงเดือดร้อนมากกว่า เบียดแซงปัญหายาเสพติดและหนี้นอกระบบ เพราะปัญหาภัยไซเบอร์เข้าถึงมือประชาชนเกือบทั้งประเทศ เป็น ภัยอยู่กับมือ ของประชาชน

“ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้อง กรุยทางสภาพแวดล้อมความปลอดภัยทางไซเบอร์ตั้งเป็นกำแพงไซเบอร์ล้อมรั้วสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนบนโลกออนไลน์ก่อนแจกเงินเป๋าตัง และแอปพลิเคชั่นเป๋าตั้งควรอยู่ในระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นสูงมากกว่าการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์แบบปกติทั่วไปเพราะประชาชนคาดหวังสูงที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมและความเชื่อมั่นกลับคืนมาจากที่เคยเกิดอาการแกว่งตัวในช่วงตั้งรัฐบาล

และควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายทางไซเบอร์ที่มีอยู่บรรจุเรื่องการป้องกัน การปราบปราม การควบคุม การเยียวยาผู้เสียหายทางไซเบอร์และอื่น ๆ เข้าไปให้มีหน่วยงานกลางดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ นำ NIST ของสหรัฐอเมริกา ISO 27000 ISO 31000 และ GDPR ของยุโรป มาประยุกต์ใช้สอดคล้องกับความแตกต่างของบริบทสังคม เน้นไปที่ความมั่นคงชาติ ปกป้องผลประโยชน์ชาติและความปลอดภัยของประชาชน” ก.ต.ช.ผู้แทนภาคประชาชน กล่าว