“อนุทิน” ลั่นสอบเข้า ข้าราชการ แบบทุจริต ต้องไม่เกิดขึ้นในมหาดไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

โฆษกกระทรวงมหาดไทย แจงชัด หลังสื่อโซเชียลตั้งคำถาม สอบเข้า ข้าราชการ ท้องถิ่น ต้องมีการจ่ายค่าสมัครสอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในราคาสูงจริงหรือไม่ ย้ำขณะนี้ สถ. ยังไม่มีการเปิดสอบรับ ข้าราชการ แต่อย่างใด

  • ด้าน อนุทิน สั่งด่วน สถ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเรียกเงินค่าสมัคร 
  • พร้อมสั่ง ให้รายงานผลใน 15 วัน เผยการสอบข้าราชการท้องถิ่น ปี 67 ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบทุจริต
  • ย้ำชัด มหาดไทยให้ความสำคัญ กับการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดสอบ ต้องปลอดการทุจริต

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การสอบบรรจุข้าราชการท้องถิ่น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ต้องมีการจ่ายค่าสมัครสอบ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในมูลค่าสูงจริงหรือไม่  และได้มีการแนบรายละเอียด ปฏิทินการรับสมัครสอบข้าราชการท้องถิ่น เมื่อปี 2566 จนสร้างกระแส วิพากษ์ วิจารณ์ เชิงลบ ในสังคมเป็นวงกว้างนั้น 

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ขอชี้แจงว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีการเปิดสอบแต่อย่างใด โดยล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้ สถ. ดำเนินการตรวจสอบ กรณีข้อมูลเกี่ยวกับ การเรียกรับเงินค่าสมัคร ที่ได้มีการเผยแพร่ในสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการด่วน พร้อมทั้งให้รายงานผล มาให้ทราบภายใน 15 วัน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการสอบข้าราชการท้องถิ่น ปี 2567 ยังอยู่ในขั้นตอน ของการตรวจสอบทุจริต โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้มีคำสั่ง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง 

เนื่องจากกลุ่มเครือข่ายต่อต้านการทุจริตสอบเป็นข้าราชการ หรือพนักงานท้องถิ่น ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ขอให้มีการทบทวนและเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบแข่งขันปี 2567 

โดยล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จ พร้อมกับรายงานผลให้ รมว.มหาดไทยทราบ เพื่อสั่งการให้ สถ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ ภายใต้ระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด

“นายอนุทิน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ไปดำเนินการ และกำชับให้ สถ. ดำเนินการตามข้อสั่งการ และข้อเสนอแนะ ในการรายงานผล การตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด 

โดยคำนึงถึง วิธีการสอบแข่งขันที่สุจริต และพิจารณาถึงความเสียหาย แต่หน่วยงานของรัฐ หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องดำเนินการ และต้องให้มีความคุ้มครองผู้ร้อง ผู้ให้ข้อมูล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าให้ต้องได้รับภัย หรือความไม่ชอบธรรม อันเนื่องมาจากการดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าวด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ขอเน้นย้ำกับประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนหลายแสนบาท เพื่อให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่น โดยขอให้รับข้อมูล จากช่องทางของทางการเป็นหลัก 

โดยหากพบ เบาะแส หรือได้รับการติดต่อ ที่เรียกรับเงิน เพื่อช่วยเหลือให้ได้รับการบรรจุ และแต่งตั้งได้ ขอให้แจ้งความดำเนินคดี หรือส่งข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครีอข่าย

ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท. และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) นำไปประกอบการดำเนินการ ตามกฎหมายต่อไป โดยสามารถส่งข้อมูลได้ที่ 02-222-8866 แจ้งที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หรือ ศูนย์ดำรงธรรม 02 -221-1133 หรือสายด่วน 1567

“ทั้งนี้ รมว.มหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดสอบต้องปลอดการทุจริต ร่วมกับหน่วยงานด้านการปราบปรามทุจริต วางแนวทางป้องกัน และการตรวจสอบ ที่เข้มงวด พร้อมเน้นย้ำว่า หากพบมีการทุจริตเกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ตามกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง อาญา และ โทษวินัย 

เพื่อให้ประชาชน เกิดความเชื่อมั่นว่า กระบวนการสอบ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ จะได้มาซึ่ง บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต เข้ามาทำงาน รับใช้ประชาชนในท้องถิ่น ทุกแห่งทั่วประเทศ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

กระทรวงมหาดไทย

มหาดไทยคุย แก้หนี้นอกระบบคืบ มูลหนี้ลด 866 ล้านบาท