“ชวน” แนะถอดบทเรียนในอดีต ปฏิรูปการเมือง-สังคม ชี้รธน.แก้ความขัดแย้งไม่ได้

  • ปฏิรูปเฉพาะด้านการเมืองไม่เพียงพอ
  • ต้องปฏิรูปสังคมทั้งระบบ
  • ฟื้นฟูประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมและสร้างแบบแผนใหม่ๆ

วันที่ 12 มี.ค.2565 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย “หัวข้อ : การปฏิรูปการเมืองและความมั่นคงเพื่อการบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ และกองทัพ” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 (สวปอ.มส.SML รุ่นที่ 3) จัดโดย สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยนายชวน กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองว่า ประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนา ระบบรัฐสภา มานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ซึ่งการเมืองไทยมีพัฒนาการ และได้บทเรียนหลากหลายแง่มุม ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีมาโดยตลอดและปรากฏ ชัดเจน ซึ่งสังคมรับรู้ในรูปแบบที่เรียกว่า การปฏิรูปการเมือง หากเราต้องการให้การปฏิรูปการเมือง บรรลุผลสำเร็จ และเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสุดท้าย จำเป็นที่จะต้องทบทวนบทเรียนจากอดีต โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับถมอยู่บนสังคมไทยมานาน ฉะนั้นการปฏิรูปเฉพาะด้านการเมืองคงไม่เพียงพอ จะต้องปฏิรูปสังคมทั้งระบบ

ซึ่งการปฏิรูป จะรวมถึงการฟื้นฟูวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิม และการสร้างแบบแผนการปฏิบัติใหม่ๆ ที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการประชาธิปไตย โดยที่ทุกภาคส่วนหรือทุกองคาพยพ ทั้งที่เป็นสถาบัน องค์กรที่เป็นและไม่เป็นทางการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะและชนชั้น ต้องเข้าร่วมการปฏิรูปนี้ เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบไทย ด้วยผลจากความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นลำดับแรก อะไรคือเป้าหมายหลักของการปฏิรูปการเมือง หากการปฏิรูปมุ่งที่จะแก้ปัญหา การเผชิญหน้าและความแตกแยกระหว่างประชาชนภายในประเทศ อันเป็นปัญหาเร่งด่วน การอาศัยรัฐธรรมนูญขจัดปัญหาไม่น่าจะช่วยอะไรได้ และอาจจะทำให้ความขัดแย้งทวีรุนแรงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามลำพังรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ร่างขึ้นตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ หากกฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่มีการปฏิบัติจริง ๆ และการปฏิรูปการเมืองไม่สามารถเปลี่ยนวิถีปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะในประเทศประชาธิปไตยใหม่ทั้งหลายแบะสังคมไทยมีกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ ตามระบอบเสรีประชาธิปไตยกับพฤติกรรมจริง ๆ หรือกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการมักจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นไปได้ลำบาก และนี่คือปัญหาที่สังคมไทยเผชิญภายหลัง

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยระยะเวลาไม่น้อยและจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในชั่วข้ามคืน ทั้งนี้ความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มั่นคงยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ อย่างการมีประชาสังคมที่อิสระและกระตือรือร้น สถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งและทำงานประสานสอดคล้องกัน การปกครองตามหลักนิติธรรม ระบบราชการที่ดี การกระจายรายได้และระบบสวัสดิการที่ดี

นายชวน กล่าวต่อว่า ความหมายของคำว่า การปฏิรูปการเมือง คือ การปรับปรุง แก้ไขปัญหาของระบบการเมืองทั้งระบบ เพื่อให้นักการเมืองในระบบมีความสุจริต และแก้ไขปัญหาตลอดจนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง และการปรับปรุงกลไกของระบบการเมืองส่วนกลางที่กำหนดโดยกฎหมายเพื่อลดและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองและเพิ่มประสิทธิภาพของการเมืองในการแก้ปัญหาของประเทศ

การปฏิรูปการเมือง คือการทำให้การเมืองสุจริต หากการเมืองคอร์รัปชัน หากการเมืองไม่สุจริต สิ่งที่ตามมาคือ ภาระของประชาชนที่เสียภาษี ข้าราชการขี้โกงต้องพยายามทำให้ทุกองค์กรขจัดคนโกงให้ได้ ด้วยการสร้างหลักที่ดี และได้คนดีมาทำงาน และความมั่นคงเพื่อการบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ และกองทัพ จึงควรทำให้การเกิดการปฏิรูปการเมืองและทำให้บ้านเมืองสุจริต ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของการปฏิรูปการเมือง เพราะถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปีที่ผ่านมาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการยึดอำนาจหลายครั้ง และในแต่ละครั้ง จะได้เห็นเหตุผลหนึ่งเกือบทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจคือการทุจริต มีพฤติกรรมทุจริต ประพฤติมิชอบ เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจแต่ละครั้ง คือความไม่สุจริตของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง

นายชวน กล่าวต่อว่า ตนในฐานะที่เป็นนักการเมืองมานานกว่า 50 ปี เริ่มทำงานการเมืองมาตั้งแต่ปี 2512 จนบัดนี้ยังทำหน้าที่ในฐานะนักการเมือง ได้เห็นกับตาตัวเองว่า เมื่อนักการเมืองลงทุน ไม่มีที่ไม่เอาคืน แต่ละคน ซื้อเสียงมา โกงมาลงทุน 20 – 30 ล้านบาท มากินเงินเดือน เดือนละแสนหนึ่งนั้นไม่คุ้มค่า หากไม่โกงจะเอาที่ไหนไปใช้ หลายคนจึงต้องไปโกง ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่าการโกง คือการเบียดเบียนประชาชน

นักการเมืองจะเลือกข้าราชการโกงเป็นมือไม้ให้เขา ถ้าข้าราชการดี ไม่ร่วมมือกับเขา เขาก็โกงยาก ข้าราชการโกง ก็เลือกนักธุรกิจที่โกง มาเป็นที่ปรึกษา มาทำงานร่วมกัน หลายเรื่องล้วนโยงใยเกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ข้างบนลงล่าง จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ถ้าอยากได้นักการเมืองสุจริต ต้องอย่าสนับสนุนคนซื้อเสียง ต้องเริ่มตั้งแต่ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต

“การปฏิรูปและการปกครองที่ดีที่สุดคือ การใช้หลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล การปกครองที่ดี ไม่ใช่ปกครองด้วยหลักเท่านั้น ต้องการคนดีด้วย หลักที่ดี กับคนดี ต้องไปด้วยกัน การบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ และกองทัพ จึงจะสัมฤทธิผล “ นายชวน กล่าว