“จีพีเอสซีผนึกกฟภ.” พัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่

  • นำมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้า
  • พร้อมขยายแนวทางเดินหน้าขยายผล 
  • สร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า  จีพีเอสซี ได้แลกเปลี่ยนความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)​เพื่อร่วมพัฒนาโครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่  นำมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงแนวทางและแผนการขยายผลไปถึงโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบบบริหารจัดการโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“ทั้งสององค์กร พร้อมร่วมมือกันในการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เพื่อมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นระบบที่สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการของทั้งสององค์กร และเป็นแนวทางของพลังงานยุคใหม่ที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น” 

สำหรับความร่วมมือระหว่างจีพีเอสซี และ กฟภ.ครั้งนี้ จะครอบคลุมทางด้านเทคนิค ด้านบุคลากร ด้านการบริหารจัดการ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการศึกษาโครงการ และความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ในอนาคต โดยจะมีการศึกษาและพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมตรงกับความต้องการในการใช้งาน มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ ของโครงข่ายระบบไฟฟ้าของ กฟภ.

โดยการศึกษาจะมุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการบริหารจัดการโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาประยุกต์ใช้งานระบบโครงข่ายฯ ได้แก่ 1) เทคโนโลยี SemiSolid Battery  2) เทคโนโลยี Second-life EV battery  3) เทคโนโลยี Lithium Iron Phosphate Battery หรือเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่อื่นที่มีความเหมาะสม เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการลงทุนระหว่างจีพีเอสซี  และ กฟภ.รวมถึงบริษัทในเครือของทั้งสองหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพและเสถียรภาพจากการให้บริการระบบโครงข่ายฯ ปัจจุบัน และรองรับการดำเนินธุรกิจการให้บริการในรูปแบบอื่นๆ เช่น การพัฒนาระบบจำหน่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อรองรับการเป็นผู้ให้บริการด้านไฟฟ้าอย่างครบวงจร และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านไฟฟ้าตามขอบเขตของโครงการที่ร่วมกันศึกษา โดยการดำเนินงานจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไป