กทม.สั่งศูนย์บริการสาธารณสุข 47 แห่งรับตรวจผู้มีสิทธิบัตรทองถึง 2 ทุ่ม

  • ขยายเวลาตรวจ OPD (ผู้ป่วยนอก) ถึงช่วงบ่าย
  • เกลี่ยแพทย์จากศูนย์บริการสาธารณสุขมาช่วย
  • แนะผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่าให้ยาขาด

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเอกชนปฐมภูมิในพื้นที่ กทม.นั้น ทาง กทม.ได้รับประชากรเข้ามาอยู่ในการดูแลแล้ว 200, 000 ราย ยังมีอีก 2 ล้านรายที่ไม่มีหน่วยบริการประจำ กลายเป็นสิทธิว่างและมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.จะมีแพทย์ประจำ 2-3 คน ใช้เวลาตรวจคนไข้ 3-5 นาที/คน และถ้าเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีความซับซ้อนก็จะใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้นหากการให้บริการมีความไม่สะดวกบ้างก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เกลี่ยแพทย์จากศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีคนไข้จำนวนไม่มากมาช่วยในจุดที่มีความแออัด และจะมีรถโมบาย(Mobile)​ ลงไปช่วยอำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังขยายเวลาตรวจผู้ป่วยนอกไปจนถึงช่วงบ่าย จากปกติที่ช่วงบ่ายจะเป็นการลงพื้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 47 แห่งยังได้ขยายเวลาเปิดให้บริการไปจนถึง 2 ทุ่มรวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดเพิ่มเติมอีก ในส่วนของยาและห้องแล็บก็ได้จัดเตรียมไว้รองรับความต้องการที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“คนไข้ที่หน่วยบริการเดิมถูกยกเลิกสัญญาแล้วจำเป็นต้องรับยาต่อเนื่อง เรามีความเป็นห่วงอย่างมาก ขออย่าให้ขาดยา หากท่านไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรก็สามารถเดินไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านได้เลย และในส่วนของคนไข้ในกลุ่มเปราะบางหรือไม่สามารถเดินทางมารับบริการได้ เช่น คนไข้ติดเตียง ทางโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ก็มีโครงการส่งเจ้าหน้าที่ไปเจาะเลือดให้ที่บ้าน เมื่อทราบผลแล้วก็ยังจะนำยาส่งให้และช่วยดูแลกันที่บ้านเลย” พญ.ป่านฤดี กล่าว

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตหลังจากที่ สปสช.จัดหาหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเข้ามาทดแทนคลินิกเดิมที่ถูกยกเลิกสัญญาได้แล้ว กทม.จะเพิ่มบทบาท นอกจากให้บริการรักษาแล้ว ยังจะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย ช่วยตรวจสอบคุณภาพบริการของคลินิกเครือข่ายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนด้วย