“IATA-BAR-AOC”หนุน ทอท. สร้างอาคารทิศเหนือสนามบินสุวรรณภูมิ

ผู้ประกอบการธุรกิจ-สายการบิน ผนึกกำลัง“IATA -BAR-AOC”ประสานเสียงหนุน ทอท.สร้างอาคารทางด้านทิศเหนือ “North Expansion”สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับปริมาณผู้โดยสารโตหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ย้ำ!ช่วงนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่สุดกับสร้าง ขยาย ปรับปรุง คาดรองรับผู้โดยสารเดินทางกว่า 101ล้านคนต่อปีใน20ปีข้างหน้า หากไม่ทำประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Consultative Committees : ACC หรือ เอซีีซี )เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้า ออกประเทศ ผ่านสนามบินสุวรรณภูมินั้น ทาง คณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(International Air Transport Association : IATA หรือ ไออาร์ต้า) , คณะกรรมการตัวแทนจากสายการบิน (Board of Airline Representatives : BAR) และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย(Airline Operators Committee : AOC)ได้มีความเห็นตรงกันว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.)มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศเหนือ (North Expansion)สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ (Mixed Concept) รองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะกลับมาภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดคลี่คลาย

สุวรรธนะ สีบุญเรือง

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทาง เอซีซี ได้ทำหนังสือถึง ทอท.ถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจการบิน และ สายการบิน มีความต้องการให้ ทอท. ดำเนินการสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ก่อนที่ ทอท.จะมีการรายงานต่อในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขณะเดียวกันทางไออาร์ต้ายังได้สรุปผลการศึกษาและการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ จะกลับมาฟื้นอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้โดยสารปีละประมาณ 65 ล้านคน ในปี 2567 – 2568

ซึ่งทาง ไออาร์ต้าได้มีการประเมินทางเลือกในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรักษาระดับการให้บริการ (Level of Service : LoS) ของสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimum) โดยในผลการศึกษาเสนอแนวทางที่ชัดเจนว่า ทอท.สมควรที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศเหนือ  เนื่องจากจะได้พื้นที่และมีความคุ้มค่ารองรับการใช้งานของผู้โดยสารได้ดีที่สุด หากมีการสร้างจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้อีกถึง 20 ล้านคนต่อปี ซึ่งอาคารดังกล่าว จะเป็นอาคารที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ (Mixed Concept)ซึ่งตามแผนจะมีหลุมจอด และ อาคารจอดรถผู้โดยสารที่แยกออกมาอย่างชัดเจน  จะทำให้ไม่ไปรวมกับอาคารผู้โดยสารและอาคารจอดรถหลังเดิม ขณะเดียวกันหากผู้โดยสารจะเดินทางเชื่อมต่อไปยังอาคารเดิมก็สามารถเดินทางด้วยระบบรถไฟเชื่อมต่ออาคารได้

นายสุวรรธนะ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายซึ่งไม่ใช่ผู้ใช้งานจริงในสนามบินออกมากล่าวอ้างว่า ทำไม ทอท. ถึงไม่ดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาขยายขีดความสนามบินสุวรรณภูมิเดิม ต้องบอกว่า แผนดังกล่าวเป็นแผนที่มีการศึกษามานานหลายสิบปี และขณะที่มีการศึกษาและจัดทำแผนก็ไม่ได้มีการวิเคราะห์ หรือ คาดการณ์ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด และเมื่อเกิดโควิด การพัฒนาย่อมเปลี่ยนแปลงไป ในฐานะ เอซีีซี เป็นผู้ใช้งานจริงใน สนามบิน เห็นควรว่าในช่วงที่เกิดโควิดแพร่ระบาด สถานการณ์การบินยังไม่ปกติ และการเดินทางทางอากาศมีปริมาณน้อย ทอท.ยิ่งควรเร่งสร้างอาคารด้านทิศเหนือ

เพราะจากผลการศึกษาหลายสถาบันก็ชี้ชัดว่า หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ธุรกิจการบินจะกลับมาคึกคักโดยเฉพาะปี 2567-2568 มีผู้โดยสารถึง 65 ล้านคนต่อปีและยังมีการคาดการณ์ต่อว่า จะปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิถึง 101 ล้านคนต่อปีใน 20 ปี ข้างหน้าด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นประเทศไทยก็จะมีสนามบินที่พร้อมให้บริการรองรับปริมาณผู้โดยสารเดินทางได้ทันที เพราะหากไม่ดำเนินการ ผู้โดยสารจะเสียโอกาสในการใช้บริการที่ได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึง เสียโอกาสทางด้านการเป็นศูนย์ทางการบินของภูมิภาค

“ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด สนามบินสุวรรณภูมิจวนเจียนระเบิด เพราะปริมาณผู้โดยสารมากเกินรองรับได้กว่า 60-65ล้านคนต่อปี พอมีสถานการณ์โควิดปัญหาจึงคลี่คลายลง ซึ่งปัญหาการแออัดภายในสนามบิน ทาง ทอท. เข้าใจสายการบิน และทุกธุรกิจที่อยู่ในสนามบินว่ามีปัญหามากแค่ไหน ดังนั้นทาง ทอท.จึงมีมุมมองเดียวกับ สายการบินคือต้องเร่งพัฒนาสนามบินให้รองรับได้ถึง 20 ข้างหน้า ในการสร้างอาคารทางด้านทิศเหนือ ถามว่าทำไมไม่สร้างอาคารทางด้านทิศใต้ซึ่งตามแผนแม่บทต้องใช้ระยะเวลานานรวมถึงใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งไม่ทันกับโจทย์ปัญหาที่มีอยู่ขณะนี้”