แอร์บัสส่งมอบ A321neo เพกาซัสลำแรก โกยยอดซื้อ 5.6 พันลำ

แอร์บัสลุยส่งมอบฝูงบินฮ็อตตลาดโลก A321neo “เพกาซัส” โลว์คอสต์แอร์ตุรกี รับมอบลำแรกจากสายการผลิตขั้นสุดท้ายแห่งใหม่เมืองตูลูส ฝรั่งเศส ปี’69 ตั้งเป้าผลิต 75 ลำ/เดือน ขานรับยอดซื้อทั่วโลกกว่า 5,600 ลำ

  • แอร์บัสโกยตลาดขายเครื่องบินเทรนด์ใหม่ของโลก A321neo ลูกค้าแห่ซื้อกว่า 100 ราย
  • เปิดฝูงบินยุคใหม่เด่น 3 จุดแข็ง ลดเสียงดัง 50% ลดคาร์บอน 20% ห้องโดยสารสบายสุด

แอร์บัส รายงานว่า ได้ส่งมอบเครื่องบินแอร์บัส A321neo  ลำแรกให้สายการบินเพกาซัส หรือ Pegasus Airlines  ผู้ให้บริการสายการบินแบบประหยัดในประเทศตุรกี เลือกใช้เครื่องบินรุ่นนี้ที่ประกอบขึ้นจากสายการผลิตขั้นสุดท้าย (Final Assembly Line – FAL) ของเครื่องบินตระกูล เอ320 แห่งใหม่ล่าสุดในตูลูส ฝรั่งเศส ถือเป็นการส่งมอบเครื่องบินลำแรกจากโรงงานผลิตทันสมัยแห่งล่าสุดของแอร์บัส ซึ่งเป็นพื้นที่สายการผลิตขั้นสุดท้ายเครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้ตระกูล A380 ที่อาคารฌองต์-ลูค ลาการ์ดิแยร์

เดิมสายการผลิตนี้แอร์บัสมุ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านการปรับปรุงเครื่องบินให้ทันสมัย ตอบสนองความต้องการตลาดทั่วโลกนิยมใช้ฝูงบินรุ่น A321neo ปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อมากถึง 65 % ของเครื่องตระกูล A320 ทั้งหมดที่ค้างอยู่ โดยมี A321neo เป็นสมาชิกเครื่องบินรุ่นจำนวนมากที่สุดในตระกูล A320neo รุ่นที่มีพิสัยบินและประสิทธิภาพที่ไม่มีใครเทียบได้ จึงทำตลาดมีลูกค้าทั่วโลกกว่า 100 รายสั่งซื้อเครื่องบิน A321neo กว่า 5,600 ลำ

ขณะนี้เพกาซัสเป็นหนึ่งในสายการบินที่เลือกใช้ฝูงบินแอร์บัสทั้งสิ้นมากถึง 93 ลำ ประกอบด้วย A320ceo รวม6 ลำ A320neo รวม 46 ลำ และ A321neo 41 ลำ แล้วกำลังดำเนินการสั่งซื้อ A321neo อีก 68 ลำ ทยอยส่งมอบเครื่องบินลำแรกดังกล่าว จากสายการผลิตขั้นสุดท้ายแห่งใหม่เมืองตูลูส ฝรั่งเศส เมื่อรวมกับสายการผลิตขั้นสุดท้ายเครื่องบินตระกูล A320 รุ่นอื่น ๆ ใน 3 เมือง 3 ประเทศ คือ เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี เมืองโมบีล สหรัฐอเมริกาและเมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์ให้บรรลุได้ภายในปี 2569 จะมีการผลิตเครื่องบินตระกูล A320 เดือนละ 75 ลำ

สำหรับสมรรถนะของเครื่องบินแอร์บัส A321neo มีจุดแข็ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องที่ 1 ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่และชาร์คเล็ท (Sharklet) ช่วยลดเสียงรบกวนได้ถึง 50 % เรื่องที่ 2 ลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากกว่า 20 % เมื่อเทียบกับเครื่องบินทางเดินเดี่ยวรุ่นก่อน เรื่องที่ 3 เพิ่มความสะดวกสบายสูงสุดให้ผู้โดยสารด้วยห้องโดยสารขนาดกว้างที่สุดในบรรดาเครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่บินอยู่ปัจจุบันในตลาดทั่วโลก -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน