รัฐบาลถอย “เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท”​ ไม่แจกถ้วนหน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

รัฐบาลถอย “เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ไม่แจกถ้วนหน้า ถกคำจัดกัดความตัดกลุ่มคนรวย ใช้เงินงบประมาณผูกผัน 4 ปี  แจกในรัศมีอำเภอ 

  • ยอมให้ “กรุงไทย” พัฒนาระบบ
  • ไม่ใช้เงินธนาคารออมสิน เหตุขัดกฎหมาย

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 25 ต.ค.66 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างในหลายประเด็น ทำให้คณะอนุกรรมการฯต้องนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนเติมเงินดิจิทัลให้ชุดที่มีนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธานพิจารณาอนุมัติต่อไป 

สำหรับเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นแตกต่าง  กรณีการตัดคนรวยออก หรือหาคำจำกัดความคนรวย โดยกำหนดเงื่อนไขดังนี้1.ตัดคนเงินเดือน 25,000 บาท และหรือมีเงินในบัญชีธนาคาร 100,000 บาทออก เหลือจำนวนคนได้รับสิทธิ์ 43 ล้านคน 2. ตัดคนเงินเดือน 50,000 บาท และหรือมีเงินในบัญชีธนาคาร 500,000 บาทออก จำนวนคนได้รับสิทธิ์ 49 ล้านคน และแจกเฉพาะ3.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 15-16 ล้านคน 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

โดยอายุผู้ที่ได้รับสิทธิยังคงเดิม 16 ปีขึ้นไป ขณะที่รัศมีการใช้จ่ายมีข้อสรุปเป็นระดับอำเภอ จากเดิมไม่เกิน 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในทะเบียน และให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้จัดทำระบบแพลตฟอร์มแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับแหล่งที่มาของเงิน ยังมีความเห็นหลากหลายเช่นกัน ซึ่งต้องเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ​มีความเห็นดังนี้ 1.ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก ด้วยการตั้งงบประมาณผูกผัน 4 ปี ผ่านพ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งจะต้องเริ่มจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดยการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินนั้น อาจต้องทำให้โครงการแจกเงินดิจิทัล10,000 บาท ล่าช้าออกไปตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี2567 หรือสามารถใช้จ่ายได้ในราวเดือนพ.ค.2567

ส่วนการออกพ.ร.ก.กู้เงิน นั้นเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะต้องมีเหตุแห่งความจำเป็นใช้เงิน ขณะที่การใช้เงินของธนาคารออมสิน จากเดิมมีแนวคิดที่จะนำมาใช้ แต่เนื่องจากติดข้อกฎหมายเรื่องวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสินไม่สามารถดำเนินการได้  รวมถึงเงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.การเงินการคลัง พ.ศ. 2561

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินยังคงเดิม คนได้รับสิทธิใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ส่วนร้านค้าสามารถทยอยขึ้นเงินภายใน 4 ปี  โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งเงื่อนไขการจ่ายเงินนั้น ต้องหารือกับร้านค้าที่จะต้องชะลอการเบิกจ่ายตามเงินงบประมาณประจำปี