AWC นำธุรกิจไตรมาส 2 ปี’66 กำไรโตก้าวกระโดด 32% โรงแรมรายได้ที่พักพุ่ง 82.1%-อสังหาฯใหม่ขยายตัวดี

AWC ไตรมาส 2 ปี’66 กำไรสุทธิ 1,116 ล้านบาท เพิ่ม 32% โตก้าวกระโดดจากปี’62 ธุรกิจโรงแรม-อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ โดดเด่น

  • กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการอู้ฟู่ รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักพุ่ง 3,356 บาท/คืน ขยับขึ้น 82.1%
  • กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ขยายตัวเร็ว มุ่งนำพอร์ตสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท
  • สร้างความยั่งยืนสีเขียวนำไทยเป็นประเทศปลายทางท่องเที่ยวคุณภาพของโลก

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) “AWC” เปิดเผยว่า AWC มีผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 ตามงบการเงินรวมมูลค่ายุติธรรม ทำรายได้รวมกว่า 4,518 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 32 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิดระบาด และยังคงเดินหน้าพัฒนากลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ เปลี่ยนทรัพย์สินกำลังพัฒนา (Developing Asset) เป็นทรัพย์สินดำเนินงาน (Operating Asset) ควบคู่การยกระดับพอร์ตโฟลิโอ (Assets Enhancement) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) สอดคล้องตามกลยุทธ์ GROWTH-LED ทำให้กระแสเงินสดเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทยังมีมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงานรวม 120,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,996 ล้านบาท คิดเป็น 44.4% เมื่อเทียบกับปีปกติ 2562

โดยภาพรวม AWC ทำผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2566 สร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) 2,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.4% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ไฮไลต์ใน 2 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ธุรกิจโรงแรมและการบริการ และภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น เริ่มตั้งแต่สงกรานต์เดือนเมษายนปีนี้สามารถจัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นปีแรกหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ และโรงแรมกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) ในเครือ AWC มียอดเข้าพักเพิ่มขึ้น สร้าง “รายได้” เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) สูงถึง 3,356 บาท เพิ่มขึ้น 82.1% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน และสูงปี 2562 ประมาณ 10% ส่วน “ค่าห้องพัก” เฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) 5,367 บาท/คืน เติบโต 25.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจโรงแรมและการบริการมีกำไร (EBITDA) 660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200.2 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะโรงแรมในกลุ่มประชุมสัมมนา และกลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ มีค่า Revenue Generation Index (RGI) ภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะสุรวงศ์ มีค่า RGI เท่ากับ 218 แล้วยังทยอยเปิดโรงแรมใหม่ต้อนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเดินทางอีก เช่น เปิดโรงแรม ‘INNSiDE by Meliá Bangkok Sukhumvit’ แห่งแรกในไทยเมื่อกรกฎาคม 2566 และร่วมมือเชิงกลยุทธ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ Nobu Hospitality สร้างโรงแรมระดับอัลตร้า ลักชูรี่ 2 แห่ง ภายใต้แบรนด์ Plaza Athenee คือโรงแรม พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา นิวยอร์ก และโรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปาแบงคอก

ปัจจุบัน AWC เปิดบริการแล้ว 22 โรงแรม มีห้องพักรวม 5,794 ห้อง ภายในสิ้นปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 23 โรงแรมรวม 6,034 ห้อง เติบโตเพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับก่อนก่อนโควิดมีเพียง 3,432 ห้อง โดยสามารถทำรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักปัจจุบันดีกว่าก่อนปีเกิดโควิดทำให้มีรายได้ 2,287 ล้านบาท เติบโต 76.8% จากกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามเป้าหมายของบริษัทมุ่งเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย High-to-Luxury มากขึ้น

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) AWC ได้เพิ่มศักยภาพการเติบโตของกระแสเงินสดในระยะยาว โดยบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานสร้างมาตรฐานใหม่ด้านไลฟ์สไตล์ ตอบรับความต้องการกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวปัจจุบัน จึงเติบโตได้ดี ประเมินจากดัชนียอดขายของร้านค้า และบริษัทได้พัฒนาพื้นที่ ได้แก่

โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น มีผู้มาใช้บริการเพิ่ม 47% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยมีกิจกรรม ‘Disney100 Village at Asiatique’ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในการเป็นจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหารเครื่องดื่มระดับโลกที่ช่วยดึงดูดจำนวนผู้เช่าและจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

โครงการ THE PANTIP LIFESTYLE HUB เพิ่งเปิดตัวที่เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “EVERY HAPPINESS FOR EVERYONE” แลนด์มาร์คไลฟ์สไตล์ของครอบครัวใจกลางเมือง และโครงการ THE PANTIP AT NGAMWONGWAN โฉมใหม่ภายใต้แนวคิด “TREASURE HUNT” สู่การเป็นศูนย์พระเครื่อง และศูนย์รวมอาหารและไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุด ของกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ทาง AWC ได้ร่วมกับผู้นำธุรกิจอาหารภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาค” ที่ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ตอบโจทย์การค้าส่งอาหารครบวงจร พร้อมเชื่อมผู้ค้าส่งอาหารทั่วโลกกับผู้ซื้อในเขตเศรษฐกิจอาเซียน

ขณะที่ “กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน” ทำค่าเช่าเพิ่มขึ้น 6 % จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน เพราะลงทุนยกระดับอาคารเป็นไลฟ์สไตล์สเปซแห่งใหม่ตอบโจทย์การทำงานและไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เช่น เปิด “Co-Living Collective: Empower Future” ที่อาคารเอ็มไพร์ขนาดใหญ่ที่สุดในไทย และ AWC ร่วมกับพันธมิตรสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มในเอ็มไพร์ทำให้เป็นคอมมูนิตี้ดิจิทัลรูปแบบใหม่ เชื่อมต่อผู้เช่าด้วย

นางวัลลภา ยืนยันว่า จะนำ AWC สร้างการเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้ลงนามสินเชื่อเชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) รวมถึงสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) รวม 20,000 ล้านบาท กับ ธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อรองรับแผนพัฒนาเมกะโปรเจกต์สร้างพอร์ตโฟลิโออย่างแข็งแกร่ง ควบคู่กับลดการใช้ทรัพยากร ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ร่วมสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวยั่งยืน โดย AWC ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนวงเงินสินเชื่อระยะยาวซึ่งเป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียว 100%

ปี 2566 AWC ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินองค์กรด้านความยั่งยืน ในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ได้รับคัดเลือกเป็น “Top 1% S&P Global ESG Score 2022” และยังคงรักษาการประเมินจากMSCI ESG Rating ในระดับ “AA” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และสร้างมิติใหม่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์กับการท่องเที่ยวไทยยั่งยืนตามพันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า-Building a Better Future”

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen