กระทรวงแรงงาน เตรียมจัดงานวันที่ 1 พ.ค.นี้ เปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง

กระทรวงแรงงาน
กระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงาน เตรียมจัดงานวันที่ 1 พ.ค. เปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อรัฐบาล ย้ำ! เป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย พร้อมมอบของขวัญขยายเวลาให้เงินกู้กลุ่มอาชีพอิสระ

  • กระทรวงแรงงาน เปิดพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อรัฐบาล
  • ย้ำ! เป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย
  • ขยายเวลาให้เงินกู้กลุ่มอาชีพอิสระ

วันที่ 28 เมษายน 2567นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ

ซึ่งเป็นวันสำคัญของพี่น้องแรงงานที่เป็นกำลังในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

โดยในปีนี้สภาองค์การลูกจ้าง 16 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ได้เห็นชอบให้ นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการจัดงาน

นอกจากนี้ที่สำคัญจะเป็นโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานได้นำเสนอข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานจะนำมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงานต่อไป

สำหรับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 1 พ.ค. ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น. พิธีสงฆ์ มี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายพิพัฒน์เป็นประธานในพิธี เวลา 08.45 น.

ริ้วขบวนลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เคลื่อนออกจากบริเวณแยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพหานคร เวลา 11.00 น. พิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี

โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานในพิธี โดยประธานคณะกรรมการจัดงานจะแถลงข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ และยื่นต่อรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ณ เต็นท์กิจกรรมกระทรวงแรงงาน

โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวต่อว่า ในปีนี้กระทรวงแรงงานมีของขวัญวันแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การผลักดันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไม่เคยผ่านขั้นตอนแรก

รวมทั้งการขยายเวลาให้เงินกู้สำหรับแรงงานอิสระที่รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ออกไปจนกว่าจะครบวงเงินกู้ โดยปลอดดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรก เป็นต้น

สำหรับวันแรงงานแห่งชาติ (National Labour Day / Mayday) นั้นมีขึ้นเพื่อระลึกความสำคัญของผู้ที่เป็นแรงงาน ลูกจ้าง และพนักงานต่าง ๆ วันแรงงานแห่งชาติ ในประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานกระบวนการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง นายจ้าง และ ลูกจ้าง

ภายหลังจากวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้มีการจัดประชุมขึ้นและมีความเห็นว่า ควรกำหนดให้ วันที่ 1พฤษภาคม เป็นวันระลึกวันแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ทางราชการรับรอง วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ

นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลไทย ได้ทำการขยายกิจการ ด้านแรงงานสัมพันธ์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งได้มีประกาศใช้ พระราชบัญญัติ กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงานปี พ.ศ. 2500 มีพระราชบัญญัติแรงงาน ให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงาน ประจำปี ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา

จุดประสงค์ของการจัดตั้ง วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อให้ประชาชน ตระหนักรู้ถึง ผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ที่พวกเขาเหล่านั้นได้เป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้เติบโตยิ่งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ในวันแรงงานแห่งชาติคือ ในส่วนของการทำงานของแรงงาน กำหนดให้ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่หากเป็นงานเสี่ยงอันตราย กำหนดให้ทำไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เวลาในการพักระหว่างทำงาน

อีกสิ่งหนึ่งที่วันแรงงานแห่งชาติให้ความสำคัญ คือ การตระหนักรู้ว่า ลูกจ้าง แรงงาน มีสิทธิพักติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมงแรกของการทำงาน

วันหยุดประจำสัปดาห์ / วันหยุดประจำปี

สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ แรงงาน ลูกจ้าง ต้องมีวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 วัน ต่อสัปดาห์ โดยมีระยะห่างไม่เกิน 6 วัน ส่วนวันหยุดตามประเพณี เทศกาลต่าง ๆ ลูกจ้างแรงงาน ต้องได้รับวันหยุดตามประเพณี ไม่ต่ำกว่า 13 วัน ต่อปี โดยต้องรวมวันแรงงานแห่งชาติเข้าไปด้วย

วันหยุดพักผ่อนประจำปี

หากลูกจ้าง แรงงาน ผู้นั้น ทำงานติดต่อกันจนครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วัน ต่อปี

การทำงานล่วงเวลา

ในกรณีสุดวิสัยที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป หากหยุดการทำงานอาจส่งผลให้งานเสียหาย นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็นได้ ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า สองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างเริ่ม

และหากทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวน ชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน ส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ถ้าต้องทำงานในวันหยุด จนเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานนายจ้างจะต้องจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://thejournalistclub.com/economics-news-162/258486/ https://www.mol.go.th/news