“ไทยชนะ” เน้นใช้งานสะดวก ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแน่

  • ศบค. เผยไอเดียการออกแบบแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”
  • เน้นให้ประชาชน-ร้านค้าเข้ามาใช้งานสะดวก
  • ควบคู่ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มั่นใจไม่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแน่นอน

ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า แนวคิดหลักของ ศบค. ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เน้นให้กลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมายทั้งที่เป็นร้านค้า และประชาชนผู้ใช้บริการ เข้ามาใช้งานได้ง่ายภายในไม่กี่ขั้นตอน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
 
สำหรับขั้นตอนการเข้ามาใช้งาน ในส่วนของร้านค้าหรือสถานประกอบการตามกิจการ/กิจกรรม ภายใต้มาตรการผ่อนปรน มีขั้นตอนดังนี้ 1.เข้ามาที่เว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com เพื่อลงทะเบียนร่วมมาตรการ social distancing 2.กรอกข้อมูลเกี่ยวกับกิจการ และข้อมูลผู้ติดต่อ พร้อมระบุตำแหน่งที่ตั้งของกิจการเพื่อระบบจะปักหมุดให้ในแผนที่กูเกิลแมป 3.ทำแบบประเมินสถานประกอบการ ซึ่งจัดแบ่งไว้ตามประเภท/หมวดกิจการที่ประกาศไว้ตามมาตรการผ่อนปรน (เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนและถูกต้อง จะได้รับรหัส OTP ทางเอสเอ็มเอสผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่กรอกข้อมูลไว้ 4.กรอก OTP เพื่อยืนยันรายการ และ 5.เมื่อลงทะเบียนสำเร็จ สามารถดาวน์โหลดภาพใบรับรองการประเมินตามมาตรการ พร้อม QR Code เป็นไฟล์รูปภาพ (jpg) เพื่อนำมาติดไว้ให้ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการ check-in/checkout
 
ส่วนประชาชน มีขั้นตอนการเช็คอินเพื่อเข้าไปใช้บริการ ดังนี้ 1.ใช้มือถือสแกน QR Code และกด Link ที่แสดงด้านบนเพื่อเข้าสู่หน้าเช็คอิน 2.กดที่เมนูเช็คอินร้าน 3.รับข้อตกลงและความยินยอม 4.ระบุหมายเลขโทรศัพท์ และ 5.หน้าจอจะแสดงคำว่า “เช็คอินแล้ว” ทั้งนี้ในขั้นตอน 3 และ 4 จะให้กรอกเฉพาะการเช็คอินในระบบของไทยชนะครั้งแรกเท่านั้น
 
และเมื่อใช้บริการเสร็จ มีขั้นตอนการเช็คเอาท์ออกจากร้าน ดังนี้ 1.สแกน QR Code และกด Link ที่แสดงด้านบนเพื่อเข้าสู่หน้าเช็คเอาท์ 2.กดที่เมนูเช็คเอาท์/ประเมินผล 3.ระบุเบอร์โทรศัพท์ (เฉพาะครั้งแรกที่มีการเช็คเอาท์จากระบบของไทยชนะ)  4.หน้าจอจะแสดงคำว่า “เช็คเอาท์แล้ว” และ 5. ทำแบบประเมินหลังใช้บริการ โดยในข้อนี้ไม่บังคับ แต่เป็นข้อมูลที่ผู้ใช้บริการจะช่วยให้คะแนนร้านค้า เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการ 5 ข้อของกรมควบคุมโรค เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงบริการของร้านค้านั้นๆ ต่อไป
 
นพ. พลวรรธน์ กล่าวย้ำว่า ประชาชนและร้านค้า ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในการเข้าลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจาก ศบค. พิจารณามอบหมายให้ กรมควบคุมโรคเป็น ผู้ควบคุมข้อมูล (Data Controller) และมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลภายใต้การควบคุม ดังนั้น ผู้ประมวลผลก็ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การควบคุมโรคโควิด-19 จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีการส่งต่อข้อมูลไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
 
“ส่วนกรอบเวลาจัดเก็บข้อมูล 60 วันนั้น เป็นการกำหนดตามข้อเสนอของกรมควบคุมโรคและแพทย์ เพื่อให้ทำการตรวจได้อย่างรอบคอบ เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของการระบาด มาจากการติดเชื้อเพราะสัมผัสบุคคลใกล้ชิดที่เป็นโรคนี้ บางครั้งการติดไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่การสัมผัสครั้งแรก ที่ผ่านมาพบว่าบางรายติดเชื้อในครั้งที่ 3 โดยการฟักตัวของเชื้อโควิด-19 ใช้เวลาเฉลี่ย 14 วัน/รอบการสัมผัส จึงมองว่าควรเก็บข้อมูลไว้ทั้ง 3 รอบ และล่วงหน้าอีก 1 รอบ รวมระยะเวลา 56 วัน เพื่อให้มีฐานข้อมูลใหญ่พอที่จะสืบสวนโคย้อนหลังได้ 3 สัปดาห์ และสืบไปได้เพิ่มอีก 1 สัปดาห์” นพ.พลวรรธน์กล่าว
 
นอกจากนี้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ยังเป็นประโยชน์ทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้สามารถได้รับการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในการติดเชื้อ, ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปเป็นหลักฐานเพื่อประกอบการรับการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการฟรี และสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของสถานที่ให้บริการ โดยดูจากข้อมูลความหนาแน่นในช่วงเวลาที่ต้องการเข้าไปใช้บริการ รวมถึงคะแนนการประเมินจากผู้เข้าใช้บริการรายอื่นๆ ที่ทำการเช็คเอาท์แล้วนมา ขณะที่ ทางด้านร้านค้า/สถานปฏิบัติการที่ปฏิบัติตามมาตรการ ก็จะได้รับการรับรอง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ และนำผลการประเมินมาปรับปรุงการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด
 
ปัจจุบัน ช่องทางการสื่อสารของไทยชนะ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com
 ไลน์ทางการ “ไทยชนะ” และโทรสายด่วน  1119 ซึ่งมีไว้สำหรับการติดตามข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงตรงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จากรัฐบาล