โควิดซัด!ทอท.ก็ไม่กลัวยังเดินหน้าพัฒนา-สร้างสนามบินรออุตสาหกรรมการบินกลับมาคึก

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า  แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด เช่นเดียวกับทั่วโลก ทำให้การเดินทางทางอากาศหยุดไปและเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทางการบินนั้น ทาง ทอท.ก็ไม่มีแผนที่จะชะลอแผนการลงทุนแต่อย่างใด เพราะขณะนี้แผนการขยายสนามบินได้มีการวางแผนและดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 2ซึ่งทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ปี 2565 ซึ่ง ทอท. มั่นใจว่าในช่วงปีนี้ที่การเดินหยุดชะงักลง แต่เมื่อหยุดการแพร่ระบาดโควิดได้ จะทำให้การเดินทางอากาศกลับมาอย่างแน่นอน โดยมั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารจะตกท้องช้างมากในปี 2563-2565 ก่อนที่ผู้โดยสารจะกลับมาเท่าเดิม ดังนั้นการลงทุนไว้รองรับจะทำให้ทันเหตุการณ์

นายนิตินัย กล่าวว่า ทอท.ประมาณการว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 65 จะเป็นเดือนแรกที่มีผู้โดยสารเข้าใช้บริการมากเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ปี 62 ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เพราะเดือนตุลาคม เป็นเดือนที่มีวันหยุดจำนวนมาก มีเทศกาลโกลเด้นวีค ตามมาด้วยเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสิ้นปีต่อเนื่องกับปีใหม่ โดยประเมินว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 128 ล้านคน 

ขณะที่ศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารจะปรับเพิ่มขึ้นมาเพียง 116 ล้านคนต่อปี จากการขยายโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2567-2568 ซึ่งจะเห็นได้ว่ากว่าโครงการที่วางแผนไว้ในการลงทุนจะแล้วเสร็จ ต้องรอในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจึงจะเพิ่มมากขึ้นและจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาทัน เมื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด (S-Curve) ตั้งแต่ปี 2559-2562 ผ่านพ้นไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2563-2569

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ทอท.บริหารท่าอากาศยานทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินแม่ฟ้าหลวง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินหาดใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 86% สัดส่วนผู้โดยสารที่เข้าใช้บริการในสนามบินเป็นต่างชาติ 50% ส่วนที่เหลือเป็นประชาชนในประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา ไทยมีความสงบทางการเมือง ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทอท. ภายใน 4 ปี (2559-2562) ที่ผ่านมา ทอท. สามารถทุบสถิติทำกำไรได้สูงสุดอย่างต่อเนื่อง 

โดยในปี 2562 มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้ง 6 สนามบินอยู่ที่ 141-142 ล้านคน ขณะที่ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 101 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 80 ล้านคนต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าสนามบินรองรับผู้โดยสารเข้ามามากเกินปริมาณสูงสุดที่จะรับได้กว่า 40% ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งปีอยู่ที่ 38 ล้านคน เพราะผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ส่วนปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 55 ล้านคน