ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 37.00 บาทต่อดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 37.00 บาทต่อดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 37.00 บาทต่อดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ แตะระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ คาดกรอบสัปดาห์หน้า 36.40-37.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเศรษฐกิจการเงิน ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และราคาทองในตลาดโลก

  • ค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ แตะระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์
  • อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา พลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์สอดคล้องกับการดีดตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอิหร่าน ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1/67 ของไทยซึ่งขยายตัวมากกว่าคาด และจากแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย และการกลับมาร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่เงินดอลลาร์ ฟื้นตัวขึ้นตามแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ดีกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ดัชนี Composite PMI เดือน พ.ค. 67 ที่สูงสุดในรอบ 2 ปี และการปรับตัวลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ค. 67) ประกอบกับสัญญาณจากเฟด ยังคงสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งทำให้เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้

ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.68 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 36.21 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทย 4,894 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 7,725 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 8,525 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 800 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (27-31 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.40-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน เม.ย. ของ ธปท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 (Second Estimate) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือน เม.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. และข้อมูล PMI เดือน พ.ค. ของจีน และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ของยูโรโซน ด้วยเช่นกัน

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้า ที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่

รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงและอ่อนค่าเร็วช่วงต้นเดือน เม.ย. จากภาวะ Risk-off ของสงครามอิสราเอล-อิหร่าน และตลาด Price-in การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลงของ Fed ต่อมาเงินบาทกลับแข็งค่าเร็ว

หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด สำหรับในระยะสั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในกรอบ 35.70-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะทยอยแข็งค่าต่อได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากแรงหนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและแนวโน้ม Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับ ณ สิ้นปีนี้มองเงินบาทจะแข็งค่าที่ราว 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังประเมินเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ใกล้เคียงปีก่อน จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเป็นหลัก โดยอุปสงค์ในประเทศของสหรัฐฯ ยังขยายตัวดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในระยะสั้นตามวัฏจักรภาคการผลิตและการส่งออกที่ฟื้นตัว รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น

สำหรับนโยบายการเงินโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 3 รวมทั้งปี 2 ครั้ง 50 BPS ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. รวมทั้งปี 4 ครั้ง 100 BPS จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเร็วกว่าคาด สำหรับธนาคารกลางจีน (PBOC) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการการคลัง ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงท้ายปีตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางที่สูงขึ้นจากประมาณการเดิมของ BOJ

SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 (ไม่รวม Digital wallet) เหลือ 2.5% (เดิม 2.7%) แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกออกมาขยายตัวดีกว่าคาด โดยมีแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการขยายมาตรการฟรีวีซ่า ให้นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน

ส่วน ในช่วงที่เหลือของปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นหลายด้าน ได้แก่

(1) การส่งออกขยายตัวจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ
(2) ภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และส่วนหนึ่งจะถูกสินค้าจีนตีตลาดจากปัญหา Overcapacity ของภาคอุตสาหกรรมจีน

(3) การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากที่เคยขยายตัวได้ดีใน 2 ปีที่ผ่านมา ผลจากรายได้ฟื้นช้าทำให้ครัวเรือนเปราะบางสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดสถิติ 4 เดือนที่ผ่านมา “เงินบาท” อ่อนนำโด่งภูมิภาค เพราะเหตุใด?

: สรุปเงินบาทอ่อนค่า ทำสถิติรอบกว่า 1 สัปดาห์