“พิมพ์ภัทรา” มั่นใจ ขนกากแคดเมียมจากชลบุรีไปตากทัน 17 มิ.ย.นี้

พิมพ์ภัทรา แคดเมียม
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“พิมพ์ภัทรา” เผยกระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มขน “กากแคดเมียม จากจ.ชลบุรีไป จ.ตากเที่ยวแรกแล้ว มั่นใจขนเสร็จทัน 17 มิ.ย.นี้ ส่วนการปรับปรุงบ่อฝังกลบของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษา

  • การปรับปรุงบ่อฝังกลบ
  • อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนการขนย้ายกากแคดเมียมจากกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร กลับไปจังหวัดตากตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 18 วัน สามารถขนกากแคดเมียมได้จำนวนทั้งสิ้น 2,180 ถุง น้ำหนักรวม 3,432 ตัน คิดเป็น 26.50% ของจำนวนกากแคดเมียมทั้งหมด

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นวันแรกที่เริ่มการขนกากแคดเมียมจากโกดังที่ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อไปยังโรงพักคอยของ บริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก โดยใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 คัน บรรทุกกากแคดเมียม จำนวน 76 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน

ออกเดินทางจากชลบุรีในเวลา 15.00 น. นำขบวนโดยรถเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปทส. คาดว่าจะถึงจังหวัดตากในเวลา 21.00 น. และในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะใช้รถจำนวน 10 คัน ทยอยขนจากโกดังคลองกิ่วจนครบจำนวน 4,391 ตัน เพื่อให้ทันตามกำหนดเดิมในวันที่ 17 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้ กระบวนการขนย้ายยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะทำงานแก้ปัญหา และการขนย้ายกากแคดเมียมกำหนดไว้ทุกประการ ทั้งการซ้อนถุง การชักตัวย่างตรวจสอบ การทำความสะอาด และการลงระบบติดตาม และตรวจสอบการขนย้าย (e-Manifest) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก

สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงบ่อฝังกลบของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบ และประเมินสภาพความแข็งแรงและการรั่วซึมของบ่อ ซึ่งบริษัท ฯ จะได้เสนอแผนการปรับปรุงให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากแดคเมียมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

  • สธ.เฝ้าระวัง’สารแคดเมียม’ใกล้ชิด ไม่พบปชช.ได้รับสารพิษ

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานการแก้ปัญหากรณีแคดเมียมว่า กองสาธารณสุขฉุกเฉินได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์

หลังจากได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินกรณีแคดเมียม เพื่อติดตามสถานการณ์และประสานการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) การดูแลสุขภาพกาย-ใจ และการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบันพบเพียงประชาชนกลุ่มสัมผัส/กลุ่มเสี่ยง มีผลทางห้องปฏิบัติการเกินค่าอ้างอิง ซึ่งยังรอผลการตรวจวินิจฉัยยืนยันเพิ่มเติม แต่ยังไม่พบว่ามีอาการที่แสดงออกบ่งชี้ถึงการได้รับสารพิษเฉียบพลัน หรือการเจ็บป่วยจากสารพิษ

โดยที่ผ่านมาการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้ง 3 จังหวัด คือสมุทรสาคร ชลบุรี และตาก ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการครอบคลุมทุกมิติ

ส่วนด้านความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้ายแคดเมียม เพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน รวมถึงกรมควบคุมโรค ก็ได้ดำเนินการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเก็บตัวอย่างฝุ่นแคดเมียมบนพื้นผิวในบ้านประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้วางกรอบการวินิจฉัยภาวะพิษจากแคดเมียม จำแนกเป็น การวินิจฉัยภาวะเฉียบพลัน

โดยจะวินิจฉัยจากอาการ และ ประวัติ รวมถึงการตรวจหาผลกระทบของอวัยวะที่ได้รับพิษเฉียบพลัน และการวินิจฉัยภาวะพิษเรื้อรัง ด้วยการ ส่งตรวจปัสสาวะ หรือ การส่งเลือดตรวจ เพื่อหาค่าแคดเมียมในร่างกาย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง และแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน

  • เรียนรู้จากญี่ปุ่นกากของเสียและสารอันตราย

ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การตรวจเยี่ยม ดูงาน Tokyo Water Front EcoClean โรงงานกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม โรงงานกำจัดขยะติดเชื้อ และโรงงานจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหลักการนำของเสียที่ใช้ประโยชน์ได้ให้มากที่สุด และหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนแม่บทการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมและการนำการวิจัยและเปลี่ยนนักวิจัยด้านการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม

กับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสีย (Hub of Talents on Waste Management) ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย

ดร.วิจารย์ กล่าวว่าประเด็นสำคัญที่ได้ เรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้ ดำเนินการจัดการแยกหน่วยงานที่กำกับ อนุมัติ อนุญาต กิจการโรงงานอุตสาหกรรม กับการดูแลสิ่งแวดล้อมออกจากกัน โดยโรงงานอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ส่วนปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การจัดการ การกำกับดูแล อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ

ญี่ปุ่นมีการจัดการกากของเสียและสารพิษมีระบบที่ชัดเจน ทงประเภทของกากของเสียหรือสารพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การอนุมัติ การอนุญาต การเคลื่อนย้ายและขนส่ง ระบบการติดตามและรายงาน การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ตลอดจนความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูง การบำบัดและกำจัดที่ครบวงจร เปิดเผยและตรวจสอบได้ สำหรับการจัดการกากขยะในประเทศญี่ปุ่นใช้ระบบการเผาที่มีประสิทธิภาพสูง

โดยระบบปิดและระบบบำบัดมลพิษ ที่ระดับอุณหภูมิสูงพอที่จะไม่ให้เกิดสารพิษประเภทสารก่อมะเร็ง เช่น ไดออกซิน และฟิวแรน เมื่อมี กากของเสียเกิดขึ้นสุดท้ายก็จะมีการทดสอบและนำไปใช้ประโยชน์หรือถมพื้นที่ทะเล

ดร.วิจารย์ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งใน นโยบายสำคัญของรัฐบาล

อีกทั้งการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังถือเป็นภารกิจสำคัญ และการหารือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การช่วยประเทศไทยในการจัดทำแผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย การยกระดับการควบคุมการอนุญาต นำเข้า/ส่งออกของเสียอันตรายระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ตามอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) และ แนวทางการออกกฎหมาย จัดการซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “พิมพ์ภัทรา”นัดถกวันนี้! เร่งนำกากตะกอน แคดเมียม

: สธ.เฝ้าระวัง ”แคดเมียม” ใกล้ชิด ยังไม่พบประชาชนได้รับสารพิษ