แฉ!ขบวนการมั่วงบ สปสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  วานนี้ (22 พฤศจิกายน 2565) นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดเชียงราย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค “หมอเอก Ekkapob Pianpises” ระบุว่า 

ทุกท่านน่าจะรู้จัก “บัตรทอง” รู้จัก “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งก็อาจจะรู้คร่าวๆ ว่าแต่ละปีจะมีการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวให้กับทางกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปบริหารจัดการต่อ

และ อาจจะรู้อีกว่าประเทศไทยเรายังมีระบบประกันสุขภาพหลักๆ ที่รัฐสนับสนุนอีกสองระบบ คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ , ประกันสังคม โดยที่นี้เราจะยังไม่กล่าวถึงระบบย่อยๆ อื่นๆ

ใน พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้เขียนถึงการบริหารจัดการรวมในมาตรา 9 , มาตรา 10

ซึ่งการที่ สปสช. จะดูแลผู้ที่มีสิทธิข้าราชการและสิทธิประกันสังคมได้ ต้องมีการตกลงการบริการแล้วตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

จากรายงานประจำปีของ สปสช. ฉบับล่าสุดที่มีการเผยแพร่ คือ ประจำปี 2564 นั้นเขียนไว้ชัดเจนว่ายังไม่ใกล้เคียงกับการจะออกพระราชกฤษฎีกาได้เลย

แถมได้ยอมรับในรายงานด้วยว่าปี 2553-2563 นั้นทาง สปสช. ไม่ได้ทำรายงานต่อ ครม. ในเหตุผลที่ออกพระราชกฤษฎีกาไม่ได้ ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ ?!!!

และ ที่ผ่านมา จนถึงปีงบประมาณ 2564

สปสช. ได้ใช้เงินงบประมาณด้าน ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่มีการเสนอของบประมาณอยู่ในก้อน เงินเหมาจ่ายรายหัว ที่คิดตามจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองไปให้บริการกับผู้มีสิทธิอื่นด้วย ซึ่งขัดต่อมาตรา 9 , 10

จากปี 2564 ที่มีงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรครวมในเงินเหมาจ่ายรายหัว 455.39 ล้านบาท

ในปี 2565 ได้เปลี่ยนการทำงบประมาณ แยกงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว เพิ่มมาเป็น 19,265.42 ล้านบาท

และในคำของบประมาณปี 2566 เพิ่มเงินก้อนนี้ไปถึง 21,311.11 ล้านบาท

ตรงนี้แหละครับ เป็นปัญหาที่ผมกำลังจะชี้ให้เห็น…..

จาก สี่ร้อยกว่าล้าน กลายมาเป็นสองหมื่นล้าน !!!!

มีอะไรซุกซ่อนในรายละเอียดหรือไม่

และ การตั้งงบประมาณโดย สปสช. เป็นการของบประมาณตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้สำหรับดูแลผู้ที่ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น เพราะยังไม่ได้มีการทำข้อตกลงและมีการโอนงบประมาณจากทั้งสิทธิข้าราชการ และ ประกันสังคม ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 , 10

คำถามง่ายๆ ครับ ว่าคนที่ใช้สิทธิราชการ ใช้สิทธิประกันสังคม เวลาตรวจสุขภาพประจำปีเขาใช้เงินจากส่วนไหน

หรือ บางคนเป็นแผล บางคนถูกสุนัขกัด เขาต้องฉีดวัคซีนบาดทะยัก วัคซีนพิษสุนัขบ้าใช้เงินจากส่วนไหน

หรือ คนท้องที่ฝากท้องล่ะ ใช้เงินจากส่วนไหน

นี่เป็นแค่เศษเสี้ยวของงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพ ยังมีอีกหลายรายการที่หากตั้งงบประมาณผ่าน สปสช. แล้วตีความให้ใช้ทุกสิทธิจะเป็นการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อนหรือไม่ นอกจากผิดกฎหมายแล้ว

หรือว่า…. มีเหตุจูงใจเหมือนกับกรณีที่ตรวจพบการทุจริต การตรวจสุขภาพของคลินิกใน กทม. ที่เป็นข่าวดังเมื่อปีที่ผ่านมา

ไหนจะเป็นเรื่องการจัดซื้อวัคซีนรวม การจัดซื้อรวม ที่หลังๆ จะเห็น สปสช. ทำตัวเป็นหน่วยงานจัดซื้อเสียเองแทนที่จะเป็นคนกระจายงบประมาณให้โรงพยาบาล

นี่จึงเป็นที่มาของการพยายามกดดันให้รัฐมนตรีสาธารณสุขลงนามในประกาศ สปสช. ให้ใช้งบประมาณ 2566 ทั้งที่อาจเป็นการลงนามในประกาศที่ขัดกฎหมายหรือไม่

แล้วเรามาติดตามกันต่อครับว่าหน่วยงานที่มาชี้แจงในกรรมาธิการสาธารณสุขจะตอบอย่างไร