“เอกนิติ”เสียงแข็งอย่างไรก็ต้องรื้อแผนจัดหาเครื่องบิน38ลำ

  • “ถาวร” จี้บินไทยทำแผนฟื้นฟูใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
  • “เอกนิติ” ยันแผนจัดหาฝูงบิน 38 ลำ ต้องทบทวน
  • ด้านดีดีบินไทยวางแผนเช่าเครื่องบิน ลดค่าใช้จ่าย OT ลุยปรับโครงสร้างธุรกิจ

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การหารือครั้งนี้ ตนในฐานะผู้กำกับดูแลการบินไทย ได้มีข้อสั่งการให้เร่งดำเนินการ ภายหลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย ได้สั่งให้ทบทวนแผนจัดหาฝูงบินใหม่กลับมานำเสนอภายใน 6 เดือน ระหว่างนี้ขอให้การบินไทยจัดทำแผนฟื้นฟูและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน รวมทั้งขอให้รายงานความคืบหน้าของการทบทวนแผนจัดหาฝูงบินใหม่เป็นประจำทุกเดือน จนกว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย กล่าวว่า ภายหลังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้การบินไทยพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำอย่างรอบคอบ พร้อมตั้งคำถามของการวางแผนจัดใช้เครื่องบิน สถานะทางการเงิน และแผนต่อสู้การแข่งขันในอุตสาหกรรม เพื่อประกอบในแผนจัดหาฝูงบินดังกล่าว บอร์ดในฐานะผู้กำกับดูแลฝ่ายบริหาร ได้พิจารณาคำถามของรัฐมนตรีช่วยฯ และมีข้อกังวลเช่นเดียวกัน เพราะพบว่าสมมติฐานในการพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบินในขณะนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป จึงมีมติให้ฝ่ายบริหารการบินไทยทบทวนแผนจัดหาฝูงบินใหม่ และนำกลับมาเสนออีกครั้งภายใน 6 เดือน

สำหรับสมมติฐานที่บอร์ดเล็งเห็นว่ามีผลกระทบต่อการทบทวนแผนจัดหาฝูงบิน มีประเด็นหลัก เช่น การทบทวนสมมติฐานใหม่ เนื่องจากแผนจัดหาฝูงบินเดิม จัดทำในช่วงที่ไม่มีผลกระทบสงครามการค้า (เทรดวอร์) แต่ปัจจุบันมีปัจจัยดังกล่าวที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฐานะทางการเงินขององค์กรที่ต้องทบทวน ปัญหาการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน และเส้นทางบินที่ไม่ได้รับความนิยมแล้ว ดังนั้น การทบทวนแผนจัดหาฝูงบินใหม่นี้ ไม่ได้เป็นการชะลอแผนให้ล่าช้า แต่เป็นการทบทวนให้รอบคอบ เพราะถ้ายังดึงดันใช้แผนเดิมก็อาจมีความเสี่ยงสูง

ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เผยว่า การบินไทยจะเร่งดำเนินการทบทวนแผนฟื้นฟูองค์กรและแผนจัดหาฝูงบินใหม่ตามเป้าหมาย โดยเป้าหมายจะต้องเพิ่มรายได้จากการขายตั๋ว ผ่านช่องทางออนไลน์ ลดค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่จำเป็น ซึ่งเบื้องต้นจะหารือกับพนักงานลดวันหยุด 1 วัน ปรับลดค่าใช้จ่ายการทำงานล่วงเวลา (โอที) และลดค่าตอบแทนบางส่วนของผู้บริหาร ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเป็นแผนระยะสั้นที่สามารถหารือภายในองค์กรและร่วมมือกับปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ขณะที่แผนระยะยาว การบินไทยเตรียมเพิ่มเครื่องมือทางการตลาด เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความเคลื่อนไหว เช่น ลูกค้าสะสม ROP โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมไปถึงเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ครัวการบิน และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ขณะเดียวกัน การบินไทยจะเสนอแผนปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้พบว่าการบินไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E สูงเกิน 8 เท่า หากจะให้แข่งขันในตลาดได้ ต้องมีการปรับลด ดังนั้นจะเสนอบอร์ด และกระทรวงคมนาคม อนุมัติปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ผ่านการปรับลดสินทรัพย์บางส่วน เพื่อลดหนี้สิน และหาแนวทางเพิ่มทุน