เตรียมรับมือเมื่อแล้งมา!! เกษตรฯ ผนึก ธ.ก.ส. วางแนวทางส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์

  • “ประภัตร” เดินหน้าประชุมชี้แจงปศุสัตว์ – ธ.ก.ส.
  • วางแนวทางปฏิบัติงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์
  • พร้อมคิกออฟ “ขอนแก่นโมเดล” มอบสินเชื่อเกษตรกรแห่งแรกพรุ่งนี้

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงาน “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง” ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมปศุสัตว์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่อาคารสัมมนาบึงฉวาก รีสอร์ท อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยกล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเจตนารมณ์ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติและผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาดผลิตผลการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมทั้งเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์สำหรับจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์และธ.ก.ส.ได้ลงนามใน MOU ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 

นายประภัตร กล่าวว่า วันนี้ (16 ธ.ค.) จัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศและผู้บริหารระดับสูงของ ธ.ก.ส. เพื่อมอบนโยบายในการปฏิบัติและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน พร้อมทั้งระดมความคิดเพื่อออกคู่มือการปฏิบัติที่สมบูรณ์ อีกทั้งวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค. ) จะ kick off โครงการฯ จ.ขอนแก่น เรียกว่า  “ขอนแก่นโมเดล” ซึ่งจะมีพิธีมอบสินเชื่อโครงการระบบเกษตรแปลงใหญ่ให้กลุ่มเกษตรกรที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครขอนแก่น ต.บ้านทุ่ม อ. เมืองขอนแก่นต่อไป 

“สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำซากหลายพื้นที่ส่งผลกระทบให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ผลผลิตต่ำ รวมถึงขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องหันมาส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ เพราะใช้น้ำน้อย และมีราคาดีทั้ง วัว หมู แพะแกะ และไก่พื้นเมือง” นายประภัตร กล่าว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้จะได้รายชื่อกลุ่มทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าแต่ละจังหวัดต้องมี 100 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการตามที่เลือกไว้ว่าจะเลี้ยงสัตว์ชนิดใด

สำหรับกรอบ MOU ครั้งนี้ กรมปศุสัตว์รับผิดชอบในการให้คำแนะนำด้านการจัดการเลี้ยงสัตว์ กำหนดคุณลักษณะเฉพาะสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการ การจัดการด้านการควบคุมป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การควบคุมมาตรฐานฟาร์ม การเคลื่อนย้าย  การควบคุมการใช้สารต้องห้ามตามกฎหมาย การจัดทำฐานข้อมูล และการให้บริการพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการ รับสมัครสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน หรือนิติบุคคลอื่น ๆ หรือบุคคลธรรมดา และคัดกรองเบื้องต้น ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าร่วมโครงการ และให้การสนับสนุน ประสานงานด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่การเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง 

รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ส่วน ธ.ก.ส.นั้น จะประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรและผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแผนธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงและสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร นิติบุคคล และกลุ่มเป้าหมายตามโครงการ สนับสนุนการจัดการตลาดตลอดห่วงโซ่การเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง