เปิดสถิติ 4 เดือนที่ผ่านมา “เงินบาท” อ่อนนำโด่งภูมิภาค เพราะเหตุใด?

เปิดสถิติ 4 เดือนที่ผ่านมา "เงินบาท"
เงินบาท

แบงก์กรุงศรีอยุธยา เปิดสถิติ 4 เดือนที่ผ่านมา “เงินบาท” อ่อนนำโด่งภูมิภาค พร้อมประเมิน “เงินบาท” สัปดาห์หน้า คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ ยังจับตาบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ -การคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด

  • คาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวเงินบาท อยู่ในกรอบ 36.50-37.20 บาท
  • จับตาบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
  • การคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด

วันที่ 5 พ.ค.2567 น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation STORY ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 240,000 ตำแหน่ง คาดว่าจะส่งผลให้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า โดยบอนด์ยิลด์สหรัฐฯและการคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดยังเป็นปัจจัยชี้นำหลัก สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วงม.ค.-เม.ย. พบว่า ทุกสกุลเงินอ่อนค่า นำโดย บาท-ไทย 7.28% รองลงมาเป็นวอน-เกาหลีใต้ 5.62% ดอล ลาร์-ไต้หวัน 5.25% ดอง-เวียดนาม 4.48% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 4.38% เปโซ -ฟิลิปปินส์ 3.59% ริงกิต-มาเล เซีย 3.04 % ดอลลาร์-สิงคโปร์ 2.43% หยวน-จีน 1.95% รูปี-อินเดีย 0.23% อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะเดือนเม.ย.เงินบาทอ่อนค่าราวกลางตาราง เกาะกลุ่มไปกับภูมิภาค

ขณะที่ สาเหตุเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในกลุ่มสกุลเงินเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นเป็นผลมาจาก

1.แรงกดดันจากเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงเกินคาด
2.ความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทำให้กระแสเงินไหลออก
3.ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย. 6.7 หมื่นล้านบาท และและพันธบัตรสุทธิขายสุทธิ 6.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของธปท.ค่อนข้างชัดว่าระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพ และการก่อหนี้ แม้เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้สู่ระดับ 2.00% แต่จังหวะเวลาเริ่มมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ส่วนการประชุมกนง.เดือนมิ.ย.นี้จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น อาจก้ำกึ่ง โดยเฉพาะถ้าเงินบาทยังอยู่ในโทนอ่อนค่า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation STORY ว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเรื่องเดิม คือ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด

ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็ดูจะชะลอตัวลงช้ากว่าคาด จนทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณย้ำว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ตลาดเคยมองว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนมีนาคม

นอกจากนี้เงินบาท ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้ง ในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเช่นกัน และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ส่วนปัจจัยภายในเงินบาทก็เผชิญแรงกดดัน ฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายสินทรัพย์ไทย จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยต่างปรับตัวสูงขึ้น

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟด และสัญญาณการเข้าแทรกแซงสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนจากทางการญี่ปุ่น โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย

นำโดย เงินเยนซึ่งอ่อนค่าทะลุแนว 160.00 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.17 เยนต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องหลังการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รอบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมา ตามทิศทางเงินเยนที่พลิกแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ขณะที่ตลาดมีความกังวล ต่อสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินเยน หลังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเปิดเผยออกมาว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดในสัปดาห์นี้ เพื่อพยุงค่าเงินเยน (ด้วยการเข้าซื้อเงินเยนและขายเงินดอลลาร์ฯ) หลังจาก ที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน หลังผลการประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.) ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ตามเดิม แต่ก็มีการประกาศรายละเอียดของกระบวนการชะลอการลดงบดุล ซึ่งปัจจัยนี้ กดดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ให้ปรับตัวลง ประกอบกับ ถ้อยแถลงของประธานเฟดยังคงย้ำ ถึงการรอจังหวะลดดอกเบี้ย เมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับลงไปอยู่ในระดับที่เฟดสบายใจ และปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นท่าทีที่แข็งกร้าว (Hawkish tone) น้อยกว่าที่ตลาดคาด

ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 เม.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,170 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 7,145 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 8,395 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,250 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาด เพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนของทางการญี่ปุ่น ผลการประชุม นโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตัวเลขการส่งออกเม.ย. ของจีน รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่น และตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ ในมุมมองของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม: ค่าเงินบาทใกล้แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์

อ้างอิง: เงินบาทอ่อน ! นำโด่งภูมิภาคมีสาเหตุมาจากอะไร