สพฐ. แนะ 6 แนวทางสถานศึกษาจัดเรียนออนไลน์ให้นร.หลังอากาศร้อนจัด

สพฐ. แนะ 6 แนวทางสถานศึกษา
สพฐ. แนะ 6 แนวทางสถานศึกษา

สพฐ. แนะ 6 แนวทางสถานศึกษา ป้องกันเหตุความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดจากสภาพอากาศร้อนจัด ชี้ให้เรียนออนไลน์ งดกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมให้ความรู้ช่วยเหลือเบื้องต้นโรคลมแดด และเน้นความปลอดภัยให้นักเรียน

  • ชี้ให้เรียนออนไลน์
  • งดกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ให้ความรู้ช่วยเหลือเบื้องต้นโรคลมแดด

วันที่ 5 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต แจ้งสถานศึกษาในสังกัด ปฏิบัติตามแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนจัด เพื่อป้องกันเหตุความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดจากสภาพอากาศร้อนจัดแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากเหตุสภาพอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ว่าบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณครึ่งแรกของเดือน

ยังคงมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนบนของภาคกลาง กับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง มีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในบางวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา

1.งดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง

2.จัดเตรียมจุดบริการน้ำดื่มสะอาดภายในสถานศึกษาให้มีความเพียงพอ

3.ตรวจสอบสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และพัดลม ให้มีความพร้อมใช้งาน

4.ในกรณีที่มีสภาพอากาศร้อนจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนักเรียน ให้พิจารณาปิดเรียน และพิจารณาจัดการเรียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Online, On-hand, On-Air หรือ On-Demand

5.ตรวจสอบการลืมนักเรียนในรถหรือการปล่อยให้อยู่ในรถที่จอดตากแดด

6.ให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติแก่นักเรียนในการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยโรคลมแดด (Heat Stroke) หากเกิดภาวะฉุกเฉินสามารถเรียกหน่วยบริการฉุกเฉินหมายเลข 1669

    “ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามข้อห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. จึงได้เน้นย้ำให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกัน

    และขอความร่วมมือนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน สังเกตอาการตนเองและบุคคลรอบข้าง หากมีอาการโรคลมแดด (Heat Stroke) ให้รีบแจ้งเหตุโดยทันที เพื่อที่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจะได้ดำเนินการเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป”

    พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ดำเนินการทำหนังสือ แจ้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติดังกล่าว และดำเนินการแจ้งสถานศึกษาในสังกัดต่อไป

    ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ิทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อน ถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด

    โดยหลีกเลี่ยงการทำงาน หรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง เป็นระยะเวลานานไว้ด้วย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก

    รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอันตรายจากฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

    สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน โดยมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

    ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 29-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    สำหรับ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไปซึ่งมักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า

    และมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่นสมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ บางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

    สัญญาณเตือนโรคฮีทสโตรก ที่ควรระวัง ตัวร้อนมาก อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแห้งและร้อน ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นเร็วมาก ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และ อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป

    ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงโรคลมแดด ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น

    • วิธีป้องกันตัวเองจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก

    1.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด

    2.สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้

    3.จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ถึงแม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย

    4.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

    5.อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงมาก

    6.เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง

    7.สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง

    8.สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง

    9.ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ หรืออาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ขอให้รีบพบแพทย์โดยทันที

    อ่านข่าวเพิ่มเติม: อากาศร้อนจัดแนะประชาชนเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด

    อ้างอิง: สพฐ. แนะ 6 แนวทาง อากาศร้อนจัด