“ภัยแล้ง” หนัก! เกษตรฯ แนะผู้ปลูกทุเรียน-ผลไม้เร่งป้องกัน 5 ข้อ

ภัยแล้ง เกษตร ทุเรียน
ภัยแล้ง

“ภัยแล้ง” หนัก! “ธรรมนัส” สั่งกรมวิชาการเกษตร จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาสวนทุเรียนและสวนผลไม้กระทบภัยแล้ง พร้อมเปิด 5 ข้อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่นๆ

  • ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาสวนทุเรียน
  • และสวนผลไม้กระทบภัยแล้ง

วันที่ 4 พ.ค.2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกร สวนทุเรียน และสวนผลไม้อื่นๆ  ที่ถูกผลกระทบจากภัยแล้ง สั่งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแนวทาง แก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ทันที

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน และไม้ผลอื่น ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว  กรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ดังนี้ 

1.เพิ่มความชื้นในทรงพุ่ม โดยการให้น้ำปริมาณอย่างน้อย 200 ลิตรต่อต้นต่อวัน ด้วยการพ่นน้ำ หรือติดสปริงเกอร์บนต้นทุเรียน พร้อมให้น้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ในช่วงเช้ามืดเวลา 6.00-8.00 น. หรือ ช่วงเย็น เวลา 15.00-17.00 น. และเพิ่มเวลาการให้น้ำมากกว่าในช่วงเวลาปกติ เพื่อเป็นการระบายความร้อน ลดอุณหภูมิของอากาศ และเพิ่มความชื้นให้กับต้นทุเรียน

2.รักษาความชื้นในดิน โดยการคลุมดินด้วยเศษหญ้า หรือวัสดุคลุมโคนต้นทุเรียน

3.ไม่ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพราะจะกระตุ้นให้พืชแตกใบอ่อนส่งผลให้มีการใช้น้ำมากขึ้น

4.ไว้ผลต่อต้นในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ามีการติดผลมาก หากน้ำไม่เพียงพอแต่มีการติดผลมาก ต้องตัดผลทิ้งบางส่วน เพื่อให้ต้นอยู่รอด รวมทั้งตัดแต่งใบภายในทรงพุ่มออกเพื่อลดการคายน้ำ

5.พ่นด้วยสารเพื่อลดความรุนแรงจากอากาศร้อนและแล้ง  เช่น  พ่นสารเคโอลิน  (Kaolin)  หรือดินขาวเคโอลิน ในอัตรา Kaolin 6% w/v อัตรา 1 กก./น้ำ 200 ลิตร

“จากการตรวจสอบในหลายจังหวัดพบว่าผู้ปลูกทุเรียนประสบปัญหาผลทุเรียนแตก เนื่องจากอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และขาดน้ำในหลายพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ สำรวจความเสียหายจากเกษตรกร พร้อมเร่งให้ความรู้ทางวิชาการ

และคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉิน ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งของทุเรียนและผลไม้อื่นตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานเกษตรจังหวัด อาทิ เกษตรจังหวัดชุมพรได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่อำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ ซึ่งพบว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำ และลำคลองสาธารณะแห้งขอด โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชุมพร นำรถน้ำมาเติมช่วยบรรเทาเหตุน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร

ซึ่งส่งผลกระทบกับพื้นที่ปลูกทุเรียนของอำเภอท่าแซะ ในขณะที่เกษตรกรในอำเภอสวีไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการทำฝายเล็กกั้นลำห้วยเป็นระยะและมีอ่างเก็บน้ำธรรมชาติสำหรับนำน้ำมาใช้ในการเกษตร ด้านเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประสานงานลงพื้นที่สวนทุเรียนในอำเภอโนนสุวรรณ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยโครงการชลประทานบุรีรัมย์ได้นำรถน้ำมาช่วยบรรเทาเหตุ และได้แนะนำให้เกษตรกรใช้สปริงเกอร์ไปติดไว้บนต้นทุเรียน และเปิดช่วงเวลากลางวันเพื่อเป็นการระบายความร้อน และให้ความชื้นให้กับต้นทุเรียน และเกษตรจังหวัดอุทัยธานีได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกับโครงการชลประทานอุทัยธานี ในพื้นที่อำเภอห้วยคต

ภัยแล้ง กระทรวงเกษตร ธรรมนัส
ภัยแล้ง

ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 70 ไร่ ต้นทุเรียนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ในเบื้องต้นโครงการชลประทานอุทัยธานีจะจัดหารถบรรทุกน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ต่อไป

สำหรับคำแนะนำสำหรับเกษตรกรชาวสวนไม้ผล กรณีผลผลิตในสวนเสียหายจากการเผชิญเหตุปัญหาภัยแล้งและความร้อน ดังนี้

1.ใช้การคลุมดินร่วมกับระบบน้ำ ลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยจากผิวหน้าดิน และเก็บน้ำไว้ในดินด้วยการคลุมดินโดยใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ใบไม้ เศษหญ้า ฟางข้าว แกลบ ฯลฯ

หรือหากใช้แผ่นพลาสติกคลุมดิน ต้องเลือกระบบน้ำให้เหมาะสม เช่น พลาสติกที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ ต้องใช้ระบบน้ำหยดใต้ผิวดิน เป็นต้น

2.ปลิดดอกและผลออกบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อลดภาระของต้น จะช่วยรักษาชีวิตของต้นไม้ผลไว้ได้ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำและอาหารจะลดลงอย่างมากหลังปลิดดอกและผลออก สามารถทนทานต่อสภาวะแล้งได้ยาวนานกว่าต้นที่มีผลติดอยู่บนต้น ซึ่งจะฟื้นตัวได้เร็วและให้ผลผลิตได้ในฤดูการผลิตปีต่อไป

3.ลดการให้ปุ๋ยหรือสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของยอดและใบอ่อน ต้นพืชที่กำลังแตกยอดและใบอ่อนจะมีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าพืชที่อยู่ในระยะใบแก่ และสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นการแตกยอดของต้นไม้ผล ซึ่งหากน้ำไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของต้นและระบบรากอาจถึงตายได้

4.ฉีดพ่นอาหารเสริมบางชนิดเพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรง ในภาวะที่ต้องเผชิญแล้งเป็นเวลานาน หากมีอาการใบถอดสีหรือเปลี่ยนสี ควรให้การให้สารอาหารเสริม เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลทางด่วน และน้ำหมักจากพืชผักผลไม้ หรือสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไม่ควรใช้หากใบยังเขียวสมบูรณ์ และไม่ควรใช้บ่อยเพราะจะเป็นการกระตุ้นการแตกยอดและใบอ่อน

5.จัดการวัชพืชตามฤดูกาล ตัดวัชพืชให้สั้นโดยให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1 นิ้ว เพื่อลดระเหยน้ำ เศษต้นและใบหลังถูกตัดแล้วจะแห้งและกลายเป็นวัสดุคลุมดิน ช่วยรักษาความชื้นในสวน ส่วนรากที่ยังมีชีวิตทำหน้าที่ช่วยยึดเกาะน้ำในดิน ทำให้น้ำระเหยได้ช้าลง

6.ปรับเวลาการให้น้ำ  ควรให้น้ำในช่วงเวลาเย็นเพื่อให้รากพืชมีเวลาในการดูดซับธาตุอาหารในดินไปใช้ และได้รับความชื้นนานเพียงพอในช่วงกลางคืน แทนที่จะระเหยไปอย่างรวดเร็วในเวลากลางวัน

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการขาดน้ำที่เป็นปัญหาสำคัญในช่วงหน้าแล้งแล้ว ความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นไม้ผลแสดงอาการขาดน้ำได้ การให้น้ำอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากกว่าฤดูกาลปกติ

และการลดอุณหภูมิของต้นไม้ผลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและลดความสูญเสียของผลผลิตลงได้

ซึ่งเกษตรกรอาจใช้ตาข่ายพรางแสงช่วยลดอุณหภูมิที่ต้นไม้ได้รับโดยตรงจากแสงแดด หรือหากยังเป็นต้นไม้ผลขนาดเล็ก อาจเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ทางปาล์ม ฯลฯ ในการพรางแสง แต่หากเป็นต้นขนาดใหญ่

อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการลดอุณหภูมิในทรงพุ่มด้วยน้ำ โดยการต่อท่อติดมินิสปริงเกอร์สูงขึ้นไปในทรงพุ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นในทรงพุ่ม ทำให้ต้นสดชื่นและผลผลิตได้คุณภาพดีอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: “ธรรมนัส” สั่งกรมชลเร่งบรรเทา ภัยแล้ง ประชาชน-เกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์