“อาคม”​ร่วมประชุม “เวิล์ดแบงก์-ไอเอ็มเอฟ” ถกประเด็นเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังโควิดคลี่คลาย

  • สถานการณ์ราคาน้ำมันแพง
  • การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อของเฟด
  • ย้ำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ จะเดินทางไปประชุมร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)​กับธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์)​ ที่กรุงวอซิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าที่ประชุมจะมีการหารือในหลายประเด็น อาทิ การบริหารเศรษฐกิจในช่วงหลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ,มาตรการช่วยเหลือช่วงราคาน้ำมัน และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล ได้มีมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนไปบางส่วนแล้ว ซึ่งสอดคล้องควาเห็นของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญ​คือการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ ได้ประเมินว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจใหม่ โดยสหรัฐฯก็มีการปรับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่  และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)  ก็ยังคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลก มีโอกาสชะลอตัวบ้าง  ขณะที่การบริหารเศรษฐกิจระยะยาว ก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ และ สถานการณ์ราคาน้ำมัน  และความมั่นคงเรื่องอาหาร ก็เป็นประเด็นที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญ และให้ประเทศสมาชิกเตรียมรับมือ 

ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป  โดยรายได้ของไทย มาจากภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และภาคการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก ทำให้การมีการฟื้นตัวแบบค่อยๆฟื้น โดยภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อไทยไม่มาก เพราะฉะนั้น มั่นใจว่ายังคงประคับประคองเศรษฐกิจไทยไปได้ 

“ไทยเป็นประเทศแรกๆที่เปิดการท่องเที่ยว หลังจากโควิดคลี่คลาย และมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นโดยลำดับ และคนก็อั้นมานานที่ไม่ได้ท่องเที่ยว ซึ่งไทยก็เป็นจุดหมายที่ต่างชาตินิยม ทำให้มีความมั่นใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นและจะมีความมั่นคง  ส่วนนโยบายการเงินกับการคลังก็ประสานงานกันอยู่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​กับกระทรวงการคลังก็ให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

นายอาคม กล่าวต่อว่า ส่วนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 2565 หรือไม่นั้น   ต้องดูการประเมินว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ มีความอ่อนตัว และแข็งตัวอย่างไร ซึ่งต้องติดตามดูสถานการณ์ และรอติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป 

สำหรับกรณีที่ ราชกิจจาประกาศพระราชกำหนด ให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น เป็นไปตามแผนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ว่าจะกู้เท่าไหร่ กองทุนฯ ต้องจัดการทำแผนการกู้ และบริหารสถานะการเงินให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ การออกพระราชกำหนดค้ำประกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องกู้เงินทั้ง 150,000  ล้านบาทในครั้งเดียว เพราะว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มลดลงแล้ว 

นายอาคม กล่าวว่า  ขณะนี้ในหลายพื้นที่เกิดอุทกภัย ส่วนรัฐบาลจะต้องออกมาตรการช่วยเหลือหรือไม่นั้น  ต้องรอให้สถานการณ์ คลี่คลาย และน้ำลดลงทั้งหมดก่อน จึงจะประเมินได้ว่าต้องเยียวยาอย่างไร ซึ่งน้ำท่วมครั้งนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในบางพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายแล้ว