“ออมสิน-ธอส.-ธ.ก.ส.” คาดลูกหนี้แห่เข้ามาตรการพักหนี้ช่วยโควิด-19ระลอกใหม่

  • “ออมสิน”คาดรอบนี้จะมีลูกหนี้ราว 30% จากฐาน 5 ล้านราย
  • ธอส.คาดจะมีมูลหนี้รวม 200,000 ล้านบาท
  • ธ.ก.ส.ประเมินลูกหนี้เกือบ 1 ล้านรายเข้ามาตรการพักหนี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า คาดการณ์ว่าจะมีลูกหนี้ของธนาคารเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในส่วนลูกหนี้ใน 28 จังหวัดพื้นที่สีแดงและลูกค้าทั่วประเทศราว 30% ของฐานลูกค้าประมาณ 5 ล้านราย ขณะที่โครงการสินเชื่อเติมพลังฐานรากวงเงิน 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วม 200,000-300,000 ราย ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีมีที่มีที่มีเงินนั้น น่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมหลายพันราย

ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกหลายมาตรการช่วยลูกค้าและประชาชนทั่วไป โดยมาตรการแรกจะเข้าไปช่วยลูกค้าเดิมที่อยู่ใน 28 จังหวัด ประมาณ 1.9 ล้านบัญชี หรือลูกค้าทั่วไป คือ ถ้ามีปัญหาเรื่องการชำระหนี้สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ แต่ว่า มาตรการรอบนี้ ธนาคารจะต้องพิจารณาเป็นรายๆ แตกต่างจากปีที่แล้ว ที่พักหนี้เงินต้นดอกเบี้ยทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามลูกค้าสามารถเลือกติดต่อธนาคารหรือเลือกจะจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo ได้

ส่วนมาตรการที่สองจะมีมาตรการให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปจะมีสินเชื่อเสริมพลังฐานรากวงเงิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำมาก 0.35% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ยื่นขอได้ถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 64 โครงการนี้ สามารถทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นMyMo เช่นเดียวกัน

ส่วนมาตรการที่สาม คือ การเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีผ่านโครงการมีที่มีเงิน โดยผู้กู้สามารถเอาทรัพย์สินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ 70% ของมูลค่าหลักทรัพย์ มีระยะเวลาชำระคืน 3 ปี โดยไม่ต้องวิเคราะห์รายได้ มีวงเงิน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งเปิดวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท ขณะนี้ มีผู้ยื่นขอกู้เต็มวงเงินแล้ว

“หากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความยืดเยื้อ ทางธนาคารและแบงก์รัฐพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยออกมาตรการเข้าไปเพิ่มเติม โดยขณะนี้ ฐานะและสภาพคล่องแบงก์รัฐไม่มีปัญหา”

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการตามความหนักเบาของปัญหาไปแล้ว 10 มาตรการ มีลูกค้าเข้าโครงการเป็นมูลหนี้ 540,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าส่วนใหญ่พ้นมาตรการหรือแข็งแรงแล้ว แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ยังอยู่ในมาตรการคิดเป็นมูลหนี้ 139,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในรอบนี้ ธนาคารได้ออก 4 มาตรการสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม คือ เงินงวดที่เคยจ่าย 100% สามารถเลือกจ่ายได้ตามกำลัง คือ 25% 50%และ75% ของเงินงวด ที่สำคัญ คือ เงินที่ชำระมานั้น เราแบ่งตัดทั้งต้นและดอกเบี้ย ทำให้ไม่เป็นภาระต่อเดือน และหนี้เงินต้นก็จะลดลง เริ่มลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 ม.ค.นี้

อย่างไรก็ตามธนาคารประเมินลูกค้าที่อยู่ในมาตรการจะมีกลุ่มเปราะบางที่ขยายความช่วยเหลือตลอด คาดว่า จะเข้ามาตรการประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท ขณะเดียวกัน ลูกค้าที่เคยที่เข้ามาตรการและพ้นมาตรการแล้ว แต่ยังแข็งแรงไม่พอ ก็คาดจะเข้ามาตรการอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท และกลุ่มที่ไม่เคยได้รับผลกระทบก็คาดว่าจะเข้ามาตรการประมาณ 50,000 ล้านล้านบาท รวมแล้วประมาณ 200,000 ล้านบาท

ด้านนายกษาปณ์ เงินรวม ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ปัจจุบันธ.ก.ส.ดูแลลูกค้ากว่า 600,000 ครัวเรือน เป็นลูกค้าที่กู้เงินและมีการเคลื่อนไหวอยู่ 4.2 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้ มีคนที่เป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 เม.ย.2563 อยู่จำนวน 1 ล้านราย เป็นวงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท พักชำระหนี้ไปแล้ว 1 ปี หากได้รับผลกระทบก็สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ เรามีมาตรการพักหนี้เงินต้น 1 ปี สำหรับเกษตรกรรายย่อย และ 6 เดือนสำหรับเอสเอ็มอี โดยสามารถสำหรับการติดต่อลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหรือผ่านไลน์ของธนาคารได้ เมื่อลงทะเบียนแล้ว ธนาคารจะติดต่อภายใน 7 วันทำการ

“ภาระที่เราดูแลเรื่องพักหนี้ 1 ปีเป็นต้นมา ได้ให้พนักงานไปเยี่ยมเกษตรดูสถานะ เมื่อไปเยี่ยม เราจะรู้ศักยภาพไปต่อได้หรือไม่ ก็จะมีส่วนหนึ่งที่ยังมีศักยภาพ และเราก็มีโครงการชำระดีมีคืน เราคืนดอกเบี้ยให้ 20% ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย ถ้าเป็นกลุ่มเกษตรกรจะคืนให้ 10% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยเตรียมวงเงิน 3,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ต้นปีถึง 31 มี.ค.นี้”

ขณะที่ในส่วนของการเติมสภาพคล่องนั้น ธนาคารมีโครงการสินเชื่อสำหรับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มใหม่อีก 70,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ปลอดต้นและดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก ส่วนสินเชื่อคนรุ่นใหม่ก็เตรียมไว้อีก 60,000 ล้านบาท และลูกค้าเก่าอีก 100,000 ล้านบาท