“อนุทิน” ยืนยัน กัญชา เป็นนโยบายรัฐบาล มี 3 เป้าหมาย การแพทย์ เศรษฐกิจ สร้างรายได้ ป้องกันผลกระทบทางสังคม -ย้ำ!ต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้ทางที่ผิด

4 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เพจเฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความระบุว่า

กัญชา กับ นโยบายรัฐบาล

แค่เห็นผมยืนถ่ายรูปกับ ไอติมกัญชา ก็ถามกันมากมายว่า ไอติมกัญชา เป็นผลมากจากนโยบายกัญชาเสรี ด้วยใช่ไหม

ผมยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายกัญชาเสรี แต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์ เพื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์อื่น สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และรายได้ให้ประชาชน

โดยมี

3 กลไกที่รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม ด้วยกฎหมาย

เวลา 3 ปีเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการตามนโยบาย ข้อ 1 กับข้อ 2 ไปแล้ว คือ

  1. ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของ กัญชา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพร ใช้รักษาผู้ป่วยตามแนวทางการรักษาของแพทย์ ซึ่งมีการใช้ทั้งในโรงพยาบาของกระทรวงสาธารณสุข และ โรงพยายาลเอกชน
  2. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสินค้า ประเภท อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ได้นำสารสกัดจากกัญชา ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด และ ส่วนของพืชกัญชา ไปเป็นส่วนผสมในสินค้า ผลิตออกจำหน่าย สร้างรายได้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และ เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา กัญชง เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าตลาดสินค้าที่ทำจากกัญชา หรือ มีส่วนผสมของกัญชา มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

สินค้าเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ใช้ทางการแพทย์ แต่ไม่ใช่เพื่อการสูบเสพ ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการ รื่นเริง

แต่เป็นสินค้าที่ต้องอยู่ในกฎกติกา การผลิต การจำหน่าย การบริโภค เช่นเดียวกับสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล คือ การพัฒนากัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจ

การนำกัญชา มาผลิตเป็นยา สมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง มีคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กำกับดูแลมาตรฐานการผลิต และ ความปลอดภัย อย่างเคร่งครัด

สิ่งที่กำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในขณะนี้ คือ ข้อที่ 3 ได้แก่

การออกกฎหมาย มาเป็นกลไก ควบคุม ป้องกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม ซึ่งเป็นการออกกฎหมาย ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อควบคุมไม่ให้มีการใช้กัญชาเสรี เพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม ที่หลายคนเป็นห่วง

น่าแปลกตรงที่ ห่วงใย แต่ ไม่ยอมให้ออกกฎหมาย ทั้งๆ ที่รู้ว่า ถ้าไม่มีกฎหมายมาควบคุม จะทำให้มีการใช้กัญเสรี ตามที่ท่านไม่ต้องการให้เป็น

มันย้อนแย้งกันมากๆ และไม่รู้ว่า ท่านคิดอะไร ทำอะไร เพื่ออะไร ในขณะที่ เรากำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

แล้วก็อดตั้งคำถาม ไม่ได้ ว่าในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีส่วนร่วมร่างนโยบายรัฐบาลมาด้วยกัน ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายรัฐบาล ด้วยกัน ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่นมา 3 ปี อยู่ดีๆ มีเหตุผลใด จึงค้านการออกกฎหมาย ตามนโยบายรัฐบาล

ถ้าบอกว่าร่างกฎหมายไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ในชั้นกรรมาธิการ ท่านมีผู้แทนของพรรคท ร่วมอยู่ด้วย ทำไมไม่ค้าน ทำไมจึงไม่แก้ให้สมบูรณ์ตามที่ท่านต้องการ

หรือเพราะเป้าหมายของท่านชัดเจน คือ ต้องเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดให้ได้ ท่านจึงเห็นว่าไม่ต้องมีกฎหมายออกมาควบคุมการใช้กัญชา แต่ใช้กฎหมายยาเสพติด ควบคุม ไม่ให้มีการใช้กัญชา อีกต่อไป

ต้องถามว่า เกษตรกร ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ที่ลงทุนปลูก ตั้งโรงงาน ผลิตสินค้าแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป หากท่านทำสำเร็จ เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดได้

หากรัฐบาล มีนโยบายที่โลเล ไม่มั่นคง เช่นนี้ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน จะมีได้อย่างไร เกษตรกรที่ลงทุนไปแล้ว ใครจะรับผิดชอบ

กัญชา เป็นเพียงพืช ไม่ได้มีความผิดอะไร
คนใช้กัญชาต่างหากที่นำกัญชาไปใช้ทางที่ผิด
เราจึงต้องควบคุมการใช้กัญชา ด้วยการออกกฎหมายควบคุมไม่ให้คนนำกัญชา ไปใช้ในทางที่ผิด

ไม่ใช่ ตีตรา พืชกัญชา ว่าเป็นยาเสพติด และจับไปขังไว้ด้วยกฎหมายยาเสพติด เช่นในอดีต ที่ผ่านมา

สรุป ไอติมกัญชา เป็น ภูมิปัญญาไทย ไม่ใช่ยาเสพติด