ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม.ค.ลดลงต่อเนื่อง

  • เดือนที่ 2 ติดต่อกันและต่ำสุดรอบ 6 เดือน
  • โยนผ้าขาวเจอพิษโควิด-19ระลอกใหม่
  • แนะรัฐเร่งจัดหาวัคซีนตามแผนที่กำหนดไว้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่าค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 83.5 ลดลงจาก 85.8 เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2563 ซึ่งนับเป็นค่าดัชนีฯที่ปรับลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 2 และเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่ส.ค. 2563 โดยมีปัจจัยลบมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นับตั้งแต่ธ.ค. ที่ผ่านมาที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกแรกทำให้รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมทำให้ความต้องการบริโภคในประเทศชะลอตัว ขณะที่การส่งออก ยังประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก่ไขประกอบด้วยขอให้ เร่งรัดการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยให้ได้ตามกำหนดเวลาและปริมาณที่พอเพียง โดยเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ควรเร่งรับรองมาตรฐานวัคซีนโควิด-19เพราะหลายๆประเทศทั่วโลกได้เปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนโดยเสรีเพื่อเปิดให้เอกชนจัดหาโดยตรง ซึ่งขณะนี้ ในส่วนของประเทศไทย กกร.ก็เห็นว่า ภาคเอกชนพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าวัคซีนเองเพื่อให้กระจายได้เร็วขึ้น ในการให้ภาคเศรษฐกิจเดินหน้าและสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเร่ง แก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน, ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในอาเซียน ,ขอให้รัฐบาล มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะมาตรการเสริมสภาพคล่อง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) อย่างเป็นรูปธรรม เพราะขณะนี้มีการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนเพียง 122,000 ล้านบาทจากวงเงิน 500,000 ล้านบาท และ ขอให้พิจารณาการนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000บาทเป็น 5 0,000 บาทเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ร่วมกับรัฐและเอกชนมอบตู้เก็บวัคซีนควบคุมอุณหภูมิ 2-8 องศาฯให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ 77 จังหวัดทั่วประเทศโดยมีกำหนดส่งมอบล็อคแรก 21 สถานพยาบาลรัฐภายในเดือนก.พ.นี้ตู้แช่ดังกล่าวเป็นความร่วมมือของสมาชิกส.อ.ท.จำนวน 7 รายที่ได้ร่วมกันผลิตเพื่อบริจาคให้กับรัฐ 77 จังหวัดตามแผนการจัดหาวัคซีนให้กับรัฐบาล โดยเร็วๆนี้ส.อ.ท.จะหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และอย.เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้แช่วัคซีนเป็นมาตรฐานภาคบังคับจากที่ขณะนี้เป็นมาตรฐานทั่วไปทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เป็นประเภทวัสดุทางการแพทย์ที่จะได้รับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์มากกว่า

 นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท.กล่าวว่า ตลาดตู้แช่ดังกล่าวที่ร่วมมือกันผลิต มีราคาเพียง ตู้ละ45,000บาทเมื่อเทียบกับการนำเข้าตู้ละ100,000 บาท ดังนั้นในอนาคตหากภาครัฐสนับสนุนให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ก็จะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายและส่งออกได้มากขึ้นจึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจของประเทศไทย โดยตลาดตู้แช่ยาของไทยมีมูลค่า 500 ล้านบาทต่อปี

#Thejournalistclub #JNC #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย