สแกนคิวอาร์โค้ดเช็คราคายารพ.เอกชนได้หลัง16ส.ค.นี้

  • พาณิชย์ยันเตรียมส่งคิวอาร์โค้ดราคายาให้รพ.เร็วๆ นี้
  • ย้ำรพ.ต้องติดตั้งในที่เปิดเผยให้ประชาชนเห็นชัดเจน
  • หวังให้เปรียบเทียบราคายาของทุกรพ.ได้ก่อนใช้บริการ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ภายหลังจากครบกำหนดที่โรงพยาบาลเอกชน 353 โรงพยาบาล และผู้นำเข้า ผู้ผลิต 345 ราย จะต้องแจงข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ยา และเวชภัณฑ์มาที่กรมการค้าภายในภายในวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า โรงพยาบาลแจ้งมาแล้ว 312 แห่ง โดยในจำนวนนี้ แจ้งข้อมูลครบถ้วน 298 ราย และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลอีก 14 ราย นอกจากนี้ ยังมีไม่แจ้งข้อมูลมาให้กรม 37 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 4 รายไม่เข้าข่ายและไม่มีคุณสมบัติที่จะต้องแจ้งข้อมูล เพราะปิดกิจการและแปลงสภาพเป็นคลีนิคไปแล้ว

ขณะที่ ผู้ผลิตและผู้นำเข้า แจ้งข้อมูลแล้ว 240 ราย แต่บางส่วนอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูล นอกจากนี้ อีก 81 รายไม่แจ้งข้อมูล และ 19 รายไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องแจ้งข้อมูล และ 5 รายที่ไม่สามารถติดต่อได้ สำหรับรายที่ไม่แจ้งข้อมูลนั้น กรมได้ส่งหนังสือเรียกให้มากชี้แจง คาดว่า น่าจะทยอยมาชี้แจงภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ หากออกหนังสือเชิญแล้ว ไม่มาชี้แจง จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีไม่ส่งข้อมูลราคามาให้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน ซึ่งได้เริ่มทยอยปรับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับราคาซื้อและขายยา ที่โรงพยาบาลได้ส่งมาให้กรมแล้วนั้น ขณะนี้ ได้นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูล เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์กรม www.dit.go.th และจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ด ส่งไปให้โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งได้จัดแสดงไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้ง่าย เช่น เคาน์เตอร์จ่ายยา ฯลฯ เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบราคายาชนิดเดียวกัน ที่ขายในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ โดยสามารถตรวจสอบได้หลังจากวันที่ 16 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

”คิวอาร์โค้ด ที่จะจัดส่งให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งนั้น เมื่อตรวจสอบชื่อยาแต่ละชนิด เช่น พาราเซตามอล จะสามารถเช็คราคาที่ขายในโรงพยาบาลแต่ละแห่งทั่วประเทศได้ ทำให้ผู้บริโภครู้ได้ทันทีว่า โรงพยาบาลใดขายยาชนิดเดียวกัน ถูก หรือแพงกว่ากัน โดยราคาที่โรงพยายาลจัดส่งมาให้นั้น ถือเป็นราคาที่โรงพยาบาลผูกพันจะต้องขายตามนี้ ถ้าขายเกินกว่านี้ และมีผู้ร้องเรียน กรมจะสอบถามข้อเท็จจริง ถ้าชี้แจงไม่ได้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย และถ้าจะเปลี่ยนแปลงราคา ต้องแจ้งกรมล่วงหน้าก่อนการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 15 วัน”

ส่วนราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำรหัสของเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางแพทย์แต่ละรายการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเข้าใจตรงกัน เพราะขณะนี้ ยังไม่มีการจัดทำเป็นรหัสใดๆ เลย คาดว่า น่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือน จากนั้น จึงจะนำมาเผยแพร่ราคาได้