นายกฯ จ่อถกมาตรการระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย SME-กลุ่มเปราะบาง

นายกฯ ถกมาตรการระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ ถกมาตรการระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ

โฆษกรัฐบาล เผย ประชุมครม.เศรษฐกิจพรุ่งนี้ ( 27 พ.ค.67 ) นายกฯ เตรียมถกมาตรการระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเปิดรับไอเดียแต่ละหน่วยงาน ก่อนเคาะมาตรการลงช่วยเหลือ เน้นช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี-เปราะบาง

  • เปิดรับไอเดียแต่ละหน่วยงาน
  • เน้นช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี-เปราะบาง

วันที่ 26 พ.ค.2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำว่า ในวันพรุ่งนี้ เวลา 16.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 /2567 ที่ห้องสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการประชุม ครม.เศรษฐกิจในครั้งนี้ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ

ซึ่ง จะเน้นการหารือมาตรการระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะต้องการให้เห็นผลทันที เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้มาตรการระยะสั้น รัฐบาลวงกราอบไว้ว่าจะใช้มาตรการเดิมและมีมาตรการใหม่เสริมเข้าไป ในขณะเดียวกัน มาตรการเดิมนั้นจะต้องเร่งให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ การประชุม ในวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีให้แต่ละรัฐมนตรี และแต่ละหน่วยงาร ได้เสนอไอเดียที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) จะได้ไอเดียเบื้องต้น เพื่อเป็นการเตรียมระยะมาตรการระยะสั้นมาเสนอต่อที่ประชุมเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายชัย ยังชี้ว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากเนื่องจากตัวเลขจีดีพี เติบโตเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นแล้วไม่สบายใจทั้งที่ตัวเลขด้านการท่องเที่ยวโดดเด่นมากแต่ตัวเลขอื่นกับติดลบโดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาครัฐซึ่งติดลบพอสมควร เนื่องจากงบประมาณเพิ่งออกไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เร่งรัดในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการเรียกมาหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ซึ่งที่ผ่านมา ทางรัฐบาลก็มีการออกมาตรกระตุ้นไปหนักมาก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ซึ่งออกมาขยายตัว 1.5% แม้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเศรษฐกิจ รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการหามาตรการใหม่ เพื่อนำการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ในการประชุมครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรก คงจะพูดคุยกันว่ามีปัญหา มีวิกฤตอะไรบ้าง และดูว่ามีภาคส่วนไหนที่จำเป็นต้องดูแล ออกกลไกมาตรการ และแบ่งว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ โดยกระทรวงการคลัง ก็มีการทำการบ้านไว้แล้วเช่นกัน และพร้อมที่จะนำเสนอในครม.เศรษฐกิจ เชื่อว่าทุกๆ หน่วยงานก็เตรียมพร้อมเช่นกัน”

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ได้รับผลจากภาคการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว รวมทั้ง งบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า แต่สิ่งที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอยู่ คือ ภาคการบริการ และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2567 จะดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงที่เทศกาลสงกรานต์ โดยรัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลัง

ส่วนเรื่องของงบลงทุนภาครัฐยังหดตัวนั้น เนื่องจากงบประมาณ 2567 เพิ่งออกมาได้ 2-3 สัปดาห์ จึงยังไม่มีผลกับเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง และผูกพันงบประมาณ แต่จากที่ฟังรายงานจากกรมบัญชีกลาง การผูกพันงบประมาณ 2567 เป็นไปได้ด้วยดี การเดินหน้าเบิกจ่ายเป็นไปตามกรอบ ทุกหน่วยงานรัฐมีการเตรียมความพร้อม โดยก่อนหน้า กรมบัญชีกลางมีมาตรการให้หน่วยงานรัฐ เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า

ขณะที่ ด้านเอกชน อย่าง นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เติบโต 2.5% หลังจากจีดีพีไตรมาส 1 เติบโตเพียง 1.5% ว่า เป็นไปตามสถานการณ์ทุกฝ่ายคาดการณ์อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนักจากภัยคุกคามต่างๆ ทำให้จีดีพีทั้งปีไม่ถึง 3% ตามคาดการณ์ ทั้งปัจจัยในประเทศ จากงบประมาณ 2567 ล่าช้า หนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยสูง ภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เหล่านี้เป็นปัจจัยลบทั้งหมด

รวมทั้งปัจจัยประเทศนอกประเทศ เศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างประเทศ ราคาพลังงานโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก ต้องทำมาตรการแบบควิกวิน ทำทันที เห็นผลเร็ว เป็นโจทย์อยากฝากรัฐบาลเร่งดำเนินการ ส่วนนโยบายระยะยาว ใช้งบลงทุนสูง ควรผลักดันเช่นกัน แต่อาจไม่ต้องรีบเร่ง เน้นนโยบายเห็นผลเร็วจะดีกว่า

“ถึงเวลารัฐบาลต้องคิด และทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบควิกวิน เชิงรุก และต้องเร่งใช้งบประมาณ 2567 ควบคู่กับการจัดทำงบประมาณ 2568 ปัจจุบันรัฐบาลทำหลายส่วน ทั้งการโรดโชว์ในหลายประเทศ การเดินหน้านโยบายลงทุนขนาดใหญ่

เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน สิ่งเหล่านี้ดีแต่ใช้เวลา อยากให้เน้นมาตรการควิกวินมากขึ้น” นายอิศเรศกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : มาตรการกระตุ้นอสังหาปี67ได้ประโยชน์ทั้ง “ผู้ซื้อ” และ “ผู้ขาย”
: เว็บไซต์รัฐบาลไทย