วิทยุการบินฯ ยืนยันไทยพร้อมเป็น “ศูนย์กลางการบินภูมิภาค”

วิทยุการบินฯ ยืนยันไทยพร้อมเป็น "ศูนย์กลางการบินภูมิภาค"
วิทยุการบินฯ ยืนยันไทยพร้อมเป็น "ศูนย์กลางการบินภูมิภาค"

วิทยุการบินฯ ยืนยันไทยพร้อมเป็น “ศูนย์กลางการบินภูมิภาค” ได้ เผยบริการเดินอากาศไทย พร้อมให้บริการทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน จนได้รับคำชมจากทั่วโลก

  • พร้อมให้บริการทั้งในสถานการณ์ปกติ
  • และสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันที่ 26 พ.ค.2567 นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  ได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ 321 ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์และขอลงฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย

พร้อมทั้งประสานหน่วยงานภาคพื้นให้เข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานการบินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงคำชื่นชมจากรัฐบาลสิงคโปร์และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า บวท. มีความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศได้เป็นอย่างดี ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน

วิทยุการบินฯ ยืนยันไทยพร้อมเป็น "ศูนย์กลางการบินภูมิภาค"
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นอกจากนั้นเรื่องความพร้อมในการศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล บวท. ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพ และศักยภาพในการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินให้ได้สูงสุด และเป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อผลักดันการขนส่งทางอากาศของประเทศให้เป็นที่ยอมรับ โดยมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการบริการการเดินอากาศของประเทศให้อยู่ในระดับสากล

รวมถึงได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการการเดินอากาศและเพิ่มศักยภาพการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องการเปิดดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ของสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ อีกทั้งยังมีแผนการขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ได้แก่ การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพิ่มเติมขึ้นจากในปัจจุบันที่เป็นแบบเส้นทางบินเดียว หรือ One way route

รวมทั้งการออกแบบ และพัฒนาโครงสร้างห้วงอากาศและเส้นทางบิน เข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง หรือ Metroplex จำนวน 3 กลุ่มสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน (พังงา) และ กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง ล้านนา (ลำพูน)

ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทย มีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้งาน เช่น ระบบหอบังคับ  การบินอัจฉริยะ ระบบเชื่อมต่อข้อมูล การบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน บวท. ยังได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานห้วงอากาศของประเทศร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทางการบินต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคการบินของประเทศ พร้อมรองรับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายเรื่องการอำนวยความปลอดภัยให้ประชาชน ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน บวท. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ ได้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ โดยได้ออกมาตรการรองรับสภาพอากาศแปรปรวน จากพายุฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนัก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบิน ซึ่งส่งผลต่อทัศนวิสัยทางการบิน และเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางบิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสารและอากาศยาน

โดย บวท.ได้ประสานและติดตามข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาการบินอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของข้อมูลพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า และการรายงานข้อมูลสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อนำมาวางแผนการจัดการจราจรทางอากาศ รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น พร้อมได้กำหนดวิธีปฏิบัติการให้บริการจราจรทางอากาศ หรือ Standard Operating Procedures (SOPs)

ส่วนกรณีอากาศยาน ในการควบคุมขอบินหลบสภาพอากาศ (Weather Deviation) การบินวนรอให้สภาพอากาศดีขึ้น หรือการขอเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังสนามบินสำรอง โดยได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศทุกคน ให้ตระหนักรู้ในสถานการณ์ (Situation Awareness) ตลอดเวลา พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่อากาศยาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางการบินสูงสุด

รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เพื่อให้เกิดความสะดวก คล่องตัว และส่งผลกระทบต่อการล่าช้า และการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของเที่ยวบิน ในช่วงเวลา ที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่นและเกิดการกระจุกตัวของเที่ยวบิน

ในขณะที่เกิดสภาพอากาศเลวร้าย โดยการให้อากาศยานชะลอการรอวิ่งขึ้นมาจากสนามบินต้นทาง รอจนกว่าสภาพอากาศปลายทางจะดีขึ้น หรือจนกว่าการจัดการจราจรทางอากาศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ รวมถึงการออกประกาศแจ้งเตือนให้ทุกเที่ยวบินขาเข้าของทุกสนามบิน เตรียมการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับการล่าช้าที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ บวท. ได้จัดอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศให้พร้อมต่อการให้บริการในช่วงสภาพอากาศแปรปรวน และมีการปรับตำแหน่งการปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบให้เหมาะสมกับปริมาณการจราจรทางอากาศ”

นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินในทุกสถานการณ์ เช่น กรณีเครื่องบินขอลงจอดฉุกเฉิน บวท.จะเป็นด่านแรก ที่ได้รับการติดต่อจากนักบิน การช่วยเหลือกรณีอากาศยานประสบเหตุฉุกเฉิน จากสภาพอากาศเลวร้าย เช่น การบินวนรอสภาพอากาศจนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือน้อย (Minimum Fuel) การบินตกหลุมอากาศ/อากาศแปรปรวน (Severe Turbulence) จนทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ หรืออากาศยานประสบเหตุฉุกเฉินอื่นใด

บวท. ได้กำหนดวิธีปฏิบัติรองรับไว้พร้อมแล้วเช่นกัน โดยจะปฏิบัติตามแผนและวิธีปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือ Emergency Checklist ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน (Priority) ให้อากาศยานนั้นเข้ามาลงโดยเร็วที่สุด พร้อมอำนวยความสะดวก ประสานและให้ความช่วยเหลือตามที่นักบินร้องขอ พร้อมแจ้งเหตุให้ท่าอากาศยาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคพื้นและผู้แทนสายการบินทราบ ตามระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ และเตรียมพร้อมการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากลต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางในฤดูฝนนี้ อาจต้องพบกับความล่าช้าของเที่ยวบินบ้างในบางช่วงเวลา ในกรณีที่เกิดฝนฟ้าคะนองหรือสภาพอากาศแปรปรวนในบริเวณสนามบิน

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลข่าวสารจากสายการบิน ท่าอากาศยาน อย่างใกล้ชิด หากมีการปรับตารางการบิน หรือยกเลิกเที่ยวบิน รวมทั้งเผื่อเวลาการเดินทาง เพื่อให้ทุกท่านสามารถเดินทางได้ตามกำหนดเวลา และที่สำคัญขอให้รัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ขณะนั่งประจำที่บนเครื่องบิน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง

การปฎิบัติงานของ วิทยุการบินฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “สุรพงษ์“ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายติดตามแผนรัฐวิสาหกิจ 5 ปี วิทยุการบิน

: เว็บไซต์ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด