สศช. ชี้ออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม ต้องประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจรอบด้าน

  • อย่าคิดแค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
  • ต้องเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้รองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น
  • วางแผนเป็นระบบเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงข้อเสนอของหลายฝ่ายที่สนับสนุนให้รัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาใช้กระตุ้นหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจว่าในหลักการหรือแนวทางปฏิบัติการออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินของรัฐบาลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤติที่มีความจำเป็นทำให้ต้องกู้เงินมาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจ เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยการกู้เงินทั้งสองครั้งที่ผ่านมาก็เพราะเกิดเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยในครั้งแรกคือเราเจอกับโรคระบาดที่เป็นโรคอุบัติใหม่ และครั้งที่ 2 ที่เป็นการกู้เงินเพิ่มเติมเนื่องจากเราเจอกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ต้องมีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจล็อคดาวน์กว่า 30 จังหวัดทำให้ต้องเยียวยาประชาชนจำนวนมาก

เมื่อถามว่าในขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ ประกอบกับหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เริ่มปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงจากความไม่แน่นอนของสงครามในยูเครน แต่เศรษฐกิจไทยยังถือว่าไปได้ดีในระดับหนึ่งการบริโภคในช่วง 3 เดือนแรกที่ออกมาถือว่าอยู่ในระดับที่ดี การผลิตเพื่อส่งออกยังดำเนินได้ปกติ ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 60 – 65% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ ส่วนที่ยังไม่กลับมาเท่าเดิมคือในส่วนของภาคการท่องเที่ยวแต่รัฐบาลก็มีแนวทางที่จะผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

นายดนุชากล่าวว่าในสถานการณ์ขณะนี้ถามว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกอย่างก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจโลก หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการคว่ำบาตรกันระหว่างรัสเซีย สหรัฐฯและชาติในยุโรป ซึ่งเรื่องนี้ประเมินได้ยากแต่ความเสี่ยงในเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยได้ รวมทั้งยังมีประเด็นในเรื่องของการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ปุ๋ย ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องในเรื่องการเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งหลายปัจจัยที่มาจากการคว่ำบาตรอาจจะเกิดเป็นวิกฤติรอบใหม่ได้ซึ่งในช่วงเวลานั้นอาจมีความต้องการใช้เงินกู้เพิ่มขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน

“ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ถือว่าฟื้นตัวขึ้นมาจากช่วง 2 ปีก่อน แต่สิ่งที่มากระทบคือเรื่องของเงินเฟ้อ ข้าวของแพงที่เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีมาตรการในการแก้ไขดูแลต่อไป แต่ถามว่าถึงเวลาที่ต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ก็อาจจะยังไม่จำเป็นเพราะการกู้เงินโดยออก พ.ร.ก.นั้นต้องเข้าเงื่อนไขที่ว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินจำเป็นอย่างยิ่งยวดหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคตด้วย ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้บอกแล้วว่าต้องพิจารณารอบด้านด้วยความรอบครอบ” นายดนุชา กล่าว

สำหรับข้อเสนอสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ต้องการให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เลขาฯสภาพัฒน์ระบุว่าแม้ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะมีความเปราะบางอยู่ในระบบหลังจากที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มไปได้ หากจะมีการกู้เงินมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจริงควรมีการมาวางแผนให้มีความชัดเจนก่อนว่าจะกู้เงินมาใช้ทำเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งก็ควรจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวมากซึ่งมีความสำคัญมากกว่าที่จะใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

“การกู้เงินเพิ่มเติมในลักษณะนี้จะเป็นการกู้เงินที่เป็นลักษณะการวางวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง (Specific Objective) ที่มีการกำหนดโครงการที่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูและวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องกำหนดวงเงินไว้ก่อนแต่ต้องกำหนดโครงการที่สำคัญว่าจะทำในเรื่องอะไรบ้าง” นายดนุชา กล่าว