สธ.เผย ปีนี้จัดหาวัคซีนทะลุเป้า 124 ล้านโดสแน่ เร่งปูพรมฉีดทั้งประเทศ

  • ดีเดย์ธ.ค.ใช้ชีวิตแนวใหม่อยู่ร่วมโควิด
  • ไตรมาส 4 รพ.เอกชนเริ่มนำเข้าโมเดอร์นา

วันที่ 28 สิงหาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยในปี 2564 มีการฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 30 กว่าล้านโดส โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมสามารถจัดหาวัคซีนมาในระบบค่อนข้างสูง จากบริษัท ซิโนแวค บริษัทแอสตร้าเซนเนกา บริษัทไฟเซอร์ รวม 3 ชนิดนี้อยู่ที่ 13.8 ล้านโดส

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามา ทำให้ยอดการฉีดวีคซีนในเดือนสิงหาคมค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับประมาณการจัดหาวัคซีนในเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนด ตามแผนเดิมจะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสในปี 2564 ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 50 ล้านคน

ทั้งนี้ถ้าดูประมาณการจัดหาวัคซีนเข้ามาในเดือนกันยายนและตุลาคมจะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีกประมาณ 6 ล้านโดสต่อเดือน และแอสตร้าเซนเนกาในเดือนกันยายน 7.3 ล้านโดส ส่วนเดือนตุลาคม 10 ล้านโดสพฤศจิกายน 13 ล้านโดส ธันวาคม 13 ล้านโดส มีแนวโน้มที่ดีจะส่งมอบให้ได้มากขึ้น อย่างน้อยขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่าเดือนกันยายน เป็นสัญญาณที่ดีว่าตุลาคม-ธันวาคมจะได้วัคซีนจำนวนมากขึ้น

ส่วนบริษัทไฟเซอร์ได้รับการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจะได้วัคซีนเข้ามาประมาณปลายเดือนกันยายน 2 ล้านโดส จากนั้นตุลาคม 8 ล้านโดส พฤศจิกายน 10 ล้านโดส และธันวาคม 10 ล้านโดส มีแนวโน้มจะส่งให้ได้ 30 ล้านโดสตามที่ได้เซ็นสัญญาไปภายในสิ้นปีนี้

“ฉะนั้นจะมียอดวัคซีนจากการจัดหา 3 วัคซีนหลักของเราขณะนี้อยู่ที่ 124 ล้านโดส เกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ ถ้าดูศักยภาพการฉีดแต่ละวันมากกว่า 6 แสนโดสต่อวัน เชื่อว่าจะฉีดวัคซีนได้ตามที่เป้าหมายกำหนด “

นอกจากนี้ยังมีข่าวดีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมาอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ยอดฉีดเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงการที่องค์การเภสัชกรรมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาอีก คาดว่าจะมาในไตรมาส4นี้ เมื่อรวมแล้วจะได้วัคซีนเกิน 100 ล้านโดส สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าจะฉีดวัคซีนได้ตามแผนบรรลุเป้าหมายขอให้ไปรับวัคซีนเพื่อให้ประเทศปลอดภัยจากโควิดมากขึ้น

“ถ้าประชาชนอยากฉีด รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนฉีดด้วยความสมัครใจ ถ้าดูตามตัวเลขสิ้นธันวาคมการจัดหาวัคซีนจะอยู่ที่อย่างน้อย 140 ล้านโดส จากตัวเลขสามารถฉีดให้ประชาชนได้อยู่แล้ว เกิน70%แน่นอน”

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมมีการประชุมศบค. มีเสนอมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างปลอดภัย อย่างที่ทราบว่าโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ในโลก ตอนนี้เกือบ 2 ปีแล้ว ทั่วโลกได้ประสบการณ์อยู่ร่วมกับโควิดมาอย่างต่อเนื่อง และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น วัคซีน การตรวจบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น เชื่อว่าในอนาคตจะมีรับมือและใช้ชีวิตอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัย

“เป้าหมายคือต้องพยายามทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจากโควิดน้อยลงที่สุด พยายามลดการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ถ้าดูในประเทศไทยในเดือนสิงหาคมอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง ถ้าดูตามชาร์ตรุนแรงมากเป็นสีแดงเข้ม รุนแรงรองลงมาสีแดง ดีขึ้นปานกลางสีส้ม ค่อนข้างปลอดภัยเป็นสีเหลือง และปลอดภัยเป็นสีเขียว “

นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการคาดการณ์และการวางกลยุทธ์การควบคุมโรค กำหนดว่าพยายามให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นในเดือนกันยายน และตุลาคม สถานการณ์จะอยู่ระดับปานกลาง จากนั้นพฤศจิกายนจะดีขึ้น และธันวาคมน่าจะมีการใช้ชีวิตแนวใหม่ได้อย่างปลอดภัย

ในการป้องกันโรคล่วงหน้าคือการฉีดวัคซีนเป็นภูมิต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรค แม้ว่าเราจะเชื่อว่าวัคซีนทุกตัวโลกไม่มีชนิดใดป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่วัคซีนที่องค์การอนามัยโรคให้คำแนะนำ รวมถึงสำนักคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยให้คำแนะนำ จะมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อลงได้

“วัคซีนทุกชนิดสามารถลดอาการป่วยหนัก การเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี การฉีดวัคซีนยังเป็นมาตรการสำคัญในการดำเนินการ ถึงเดือนธันวาคมเป้า 100 ล้านโดสยังเป็นเป้าที่เราดำเนินการอยู่”

ทั้งนี้ตามแผนในเดือนสิงหาคมฉีดเข็ม 1 กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ 60 ปี กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ตั้งเป้าในเดือนกันยายนจะฉีดให้ได้ 70% ใน จากนั้นจะทยอยฉีดให้กลุ่มอื่นๆต่อไป รวมถึงกลุ่มเด็กที่มีสัญญาณที่ดีจากวัคซีนไฟเซอร์สามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไปได้ เมื่อเข้ามาปลายกันยายนจะทยอยฉีดให้ประชาชนและกลุ่มเด็กต่อไป ตั้งเป้าจะฉีดเข็ม 1 ให้ประชาชนทั้งประเทศ 70% และฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่เสี่ยงในเดือนพฤศจิกายนและฉีดครบ 2 เข็มได้ 70%และเข็ม 3 ทั้งประเทศในเดือนธันวาคม