วันนี้คนกรุงระวัง ฝุ่นPM2.5 ลดกิจกรรมกลางแจ้ง

เช้านี้ คนกรุงยังต้องระวัง ฝุ่นPM2.5 ขึ้นสีเหลือง กระทบคนร่างกายอ่อนแอ “ชลน่าน” เผยสถานการณ์ ฝุ่นPM2.5 หลายจังหวัดยังอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วโลก โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดฝุ่นในเมืองใหญ่หลายประเทศ AQIAir รานงานล่าสุดเมื่อเวลา 06.00น.วันนี้ (11 เม.ย.67) คุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร มีระดับมลพิษทางอากาศ อยู่ในระดับสีส้ม หรือ ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ดัชนีคุณภาพอากาศ อยู่ที่ 138 สหรัฐ AQItrend

ปริมาณสารมลพิษหลักมีความเข้มข้น 50.5µg/m³trend ความเข้มข้นของฝุ่นในกรุงเทพมหานครดังกล่าว คิดเป็น 10.1 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระดับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร อยู่อันดับที่ 11 ของโลก ขณะที่ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 15 ของโลก ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 94 AQI

ขณะที่อันดับในประเทศไทย มีดังนี้

  • อันดับที่ 1 เมืองสุโขทัย, จังหวัดสุโขทัย 172 AQI
  • อันดับที่ 2 เมืองอุตรดิตถ์, จังหวัดอุตรดิตถ์ 171 AQI
  • อันดับที่ 3 เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 163 AQI
  • อันดับที่ 4 บางกรวย, จังหวัดนนทบุรี 158 AQI
  • อันดับที่ 5 ลำลูกกา, จังหวัดปทุมธานี 158 AQI
  • อันดับที่ 6 เขตดินแดง, กรุงเทพฯ 155 AQI
  • อันดับที่ 7 เขตบางบอน กรุงเทพฯ 154 AQI
  • อันดับที่ 8 เมืองสมุทรสาคร, จังหวัดสมุทรสาคร 154 AQI
  • อันดับที่ 9 เขตบางขุนเทียน, กรุงเทพฯ153 AQI
  • อันดับที่ 10 บางพลี, จังหวัดสมุทรปราการ 153 AQI

สำหรับคำแนะนำด้านสุขภาพป้องกัน ฝุ่นPM2.5

  • ควรลดการออกกำลังกายกลางแจ้ง
  • ปิดหน้าต่างเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศภายนอกบ้านที่สกปรกพัดเข้ามา
  • กลุ่มที่อ่อนไหวควรสวมหน้ากากภายนอกบ้าน
  • เปิดเครื่องฟอกอากาศ

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการรองรับฝุ่น ไว้ตั้งแต่เข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนตุลาคม 2566 ที่เริ่มพบค่า ฝุ่นPM2.5 สูงขึ้น 4 มาตรการหลัก ได้แก่

  • ส่งเสริมการลดมลพิษ ด้วยการสื่อสารให้ความรู้ประชาชน
  • ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยการเฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชน และเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง
  • จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งบริการเชิงรุกในพื้นที่และในสถานพยาบาล และ
  • เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ผ่านระบบบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะวิกฤต

สำหรับเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ได้บูรณาการแพลตฟอร์มระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ กรณี ฝุ่นPM2.5 ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและมหาวิทยาลัย เป็น “One Region One Surveillance System” ติดตามข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

ทั้งสถานการณ์ จุดความร้อน และผลกระทบสุขภาพ 5 โรคสำคัญ คือ ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง ตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด จากระบบฐานข้อมูล HIS ของโรงพยาบาลในเขต 103 แห่ง ทำให้ตอบโต้สถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการเฝ้าระวังโรคมะเร็งปอด โดยจัดทำโครงการต้นแบบคัดกรองมะเร็งปอด “Lanna CA Screening model project” ด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low dose CT scan) ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีมีการสูบบุหรี่ 30 ซอง/ปี อยู่ในพื้นที่มากกว่า 20 ปี และมีญาติพี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งในเขตมีประมาณ 1.8 ล้านคน โดยจะผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของมะเร็งครบวงจรต่อไป

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากการสำรวจกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก 0-5 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) มีรวมทั้งสิ้น 370,681 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยถุงลมโป่งพองที่เสี่ยงอาการกำเริบ 3,287 ราย ซึ่งจะประสานหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนเรื่องมุ้งสู้ฝุ่น เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน ครอบคลุมผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงให้มากที่สุด

ข้อมูลอ้างอิงจาก กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เชียงใหม่-สธ. งัด14 มาตรการสู้ฝุ่น PM2.5