ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ ชี้อุตสาหกรรมอาหารทะเลมีแนวโน้มฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น

  • ชี้ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก
  • คาดมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องไทยปี 65 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัว 9.0% เทียบกับปี 64
  • ด้านการส่งออกกุ้งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดอัตราการขยายตัวปี 65 อยู่ที่ 14.6%
  • เผยตลาดจีนนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
  • แนะผู้ประกอบการ ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  • เพื่อให้มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือผู้บริโภค

น.ส.โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการคลัสเตอร์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น 

ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภค

น.ส.โชติกา กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยในปี 2565 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัว 9.0% เทียบกับช่วงปี 2564 (YOY) สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก และประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้ มีแนวโน้มกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง Pre-COVID (2558-2562) 

ขณะที่ราคาวัตถุดิบทูน่านำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลกที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งต้นทุนในการออกจับปลาที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะต้นทุนหลักอย่างน้ำมันดีเซล

ด้านมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวในปี 2565 นี้จะอยู่ที่ 14.6%YOY เร่งขึ้นจาก 6.7%YOY ในปีที่แล้ว สอดคล้องกับความต้องการในประเทศคู่ค้าสำคัญที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่ากุ้งแปรรูป โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดจีนและญี่ปุ่นที่เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงและมีความต้องการสินค้าอาหารประเภท luxury และอาหารทะเล เช่น กุ้ง เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเสี่ยงในเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) ในประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงประเด็นความ
ท้าทายในด้านอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคอาหารทะเลในระยะต่อไป ได้แก่

-มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน (sustainable fishing) และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม (fair labor practices) รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

-การแข่งขันจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น สินค้าโปรตีนทางเลือกจากพืช และผลิตภัณฑ์ประเภทPlant-based seafood เป็นต้น

-นโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ของทางการจีน ที่จะส่งผลให้จีนมีแนวโน้มทยอยลดการนำเข้าอาหารและพึ่งพาการผลิตจากภายในประเทศตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

“ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจมองว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเร่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้สอดรับกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ โดยอาจพิจารณานำเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือผู้บริโภค รวมไปถึงการปรับโมเดลธุรกิจ โดยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีความหลากหลายและแปลกใหม่ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากby-product ของกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอื่นในตลาดและตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เพื่อขยายตลาดไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องพยายามมองหาตลาดส่งออกสินค้าประมงใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเติบโตสูง เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง หรือกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและหลีกหนีการแข่งขันในตลาดส่งออกเดิม” น.ส.โชติกา กล่าว