รัฐยิ้ม!หลังร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนขยายตัว

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าผลักดันการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อการพัฒนาประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(คนร.) ปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 ทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 67 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 9.97 แสนล้านบาท โดยโครงการที่ปรับเพิ่มส่วนใหญ่เป็นโครงการในกิจการจัดการน้ำเสีย กิจการท่าอากาศยาน และกิจการด้านการศึกษา ทั้งนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะเร่งรัดโครงการที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน(High Priority PPP Project) มูลค่าลงทุนรวม 4.77 แสนล้านบาท ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดเพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศในภาพรวม

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญในการเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ของปีงบประมาณ 2565 ณ สิ้นเดือนมกราคม เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเบิกจ่ายได้ 35,052 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม โครงการขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายตามแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และงานก่อสร้างปรับปรุงขยายท่อประปาของการประปาส่วนภูมิภาค

“รัฐบาลตั้งเป้าชัดเจนในการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ รวมถึงสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แผนร่วมลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐได้อย่างแน่นอน และสร้างความมั่นใจในความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น”น.ส.รัชดากล่าว