ยอดใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพีส่งออกช่วง 7 เดือนทะยาน

.มูลค่ารวมทะลุ 4.6 หมื่นล้านเหรียญฯพ่งกว่า 36%

.”จุรินทร์” รุกเจาะตลาดไห่หนานหลังทำมินิเอฟทีเอกับไทย

.มีทั้งจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์-ยกทัพสินค้าไทยไปขาย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 64 ไทยใช้สิทธิประโยชน์สำหรับส่งออกสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) รวมมูลค่า 46,394.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 36.23% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.30% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ แบ่งเป็นภายใต้เอฟทีเอ 44,178.04 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 36.30%  และจีเอสพี 2,216.32 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 34.98% ส่วนเดือนก.ค.64 การใช้สิทธิรวม 6,206.26 ล้านเหรียญ เป็นเอฟทีเอ 5,904.78 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 35.87% และจีเอสพี 301.48 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 30%  

สำหรับการใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ นั้น ใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯมากสุด 1,973.21 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 43.16% ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 153.91 ล้านเหรียญฯ ลด 9.56%, รัสเซีย 79.83 ล้านเหรียญฯ ลด 5.68% และนอร์เวย์ 9.37 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 6.40% สินค้าที่ใช้สิทธิสูง เช่น มะพร้าวปรุงแต่ง, ซอสปรุงรส, น้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, อาหารปรุงแต่ง, สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น 

ส่วนเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศนั้น การใช้สิทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกในภาพรวมของไทย เช่น ไทย-เปรู เพิ่ม 132.51%, อาเซียน-อินเดีย เพิ่ม 55.72%, อาเซียน เพิ่ม 42.70%, อาเซียน-จีน เพิ่ม 32.47% เป็นต้น สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง เช่น เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ทำหรือชุบด้วยเงิน, เครื่องปรับอากาศ , ผลไม้สด ทั้งทุเรียนสด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด, ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง, เครื่องซักผ้า, ถุงมือยาง เป็นต้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับมณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เมื่อปลายเดือนส.ค.64 หรือ “มินิ เอฟทีเอ” เพื่อส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันนั้น กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับไห่หนานในช่วงปลายปี 64 รวมถึงส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าในจีน  

ส่วนในปี 65 จะเดินหน้าสร้างกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก ทั้งการจัดงาน Top Thai Brand ไห่หนาน ซึ่งจะยกทัพสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกของไทยไปร่วมจัดแสดงในงาน Hainan Expo โดยเน้นธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้ง การนวดแผนไทย สปา ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกปี 64 การค้าไทย-ไห่หนาน อยู่ที่ 3,623 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 2,482 ล้านบาท และไทยนำเข้า 1,142 ล้านบาท