ม.มหิดล ชี้ทางออกวิกฤติ ‘วัวแดง’ ใกล้สูญพันธุ์ เพาะเลี้ยงใหม่-บริหารจัดการคุณภาพ

  • ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์
  • ในอนาคตอาจเห็น “วัวแดงไทย” 
  • พัฒนาสู่การเป็น”สัตว์เศรษฐกิจ” 

รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์นักวิจัยประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงลักษณะของ “วัวแดง” ว่ามีความโดดเด่นสวยงามจากสีขนน้ำตาลแดงในขณะยังไม่โตเต็มวัย ก่อนเปลี่ยนเป็นสีดำคล้าย “กระทิง” เมื่อตัวผู้โตเต็มวัย แต่แตกต่างจาก “กระทิง” ตรงที่ “กระทิง” ไม่มีวงก้นขาวอย่าง “วัวแดง” และดูดุดันกว่าเมื่อยามตื่นตระหนก

นอกจากวงก้นขาวแล้ว “วัวแดง” ยังมีวงรอบปากขาว วงตาขาว และขนสีดำบริเวณหลัง ตลอดจนขาทั้ง 4 ข้างคล้ายใส่ถุงเท้าขาว ซึ่งทำให้ดูแตกต่างจากวัวทั่วไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์  ถือเป็นกำลังสำคัญในการเพาะเลี้ยง “วัวแดง” ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการใช้ “กล้องถ่ายภาพสัตว์” ติดตามการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติหลังจากที่ปล่อยไป ปัจจุบันได้ทำให้ “วัวแดง” ที่ปล่อยไป 19 ตัว มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 28 ตัว

เทคนิคการเพาะเลี้ยง “วัวแดง” อยู่ที่การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ในวัยเจริญพันธุ์ 3 – 4 ปี ซึ่งมีลักษณะสมส่วน เขาไม่บิดเบี้ยว และไม่ผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เลี้ยงด้วยพืชตามธรรมชาติ เสริมด้วยดินโป่ง ซึ่งก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจะมีการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์เก็บไว้เพาะเพิ่มจำนวนเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นนวัตกรรมในการจัดการดูแล “วัวแดง” ซึ่งนอกจากการเพาะพันธุ์เพื่อเยียวยาภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว ยังได้ติดตามความเป็นอยู่ของ “วัวแดง” หลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเพื่อการวางแผนการจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อไป

นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้องค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ “วัวแดง” หลังจากที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน และน่ายินดีที่ต่อมาโครงการวิจัยฯ ได้รับความสนใจจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF – World Wide Fund for Nature) และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนประจำประเทศไทย (ZSL – Zoological Society of London-Thailand) ให้การสนับสนุนและต่อยอดวิจัย “วัวแดง” ไทย – อินโดนีเซียแบบคู่ขนาน

ในอนาคตเราอาจเห็น “วัวแดงไทย” ได้รับพัฒนาสู่การเป็น”สัตว์เศรษฐกิจ” เช่นเดียวกับ “วัวแดงอินโดนีเซีย” แต่ในความเป็นจริง “วัวแดงไทย” ในปัจจุบันยังคงจัดเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่มีการกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจนสำหรับผู้ลักลอบล่า จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้บนพื้นฐานของการจัดการที่เหมาะสมต่อไป